“เฉลิมชัย”ย้ำไม่ทอดทิ้งเกษตรกรผู้ประสบภัย เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วม 24 ชั่วโมง พร้อมสั่งการด่วนกำชับทุกหน่วยงานเร่งระดมพลลงพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด ล่าสุดเตรียมพร้อมแผนฟื้นฟู-เยียวชาอาชีพรับมือหลังน้ำลด เมื่อวันที่ 17 ก.ย. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงเร่งแก้ปัญหาและช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดว่า หลังจากได้สั่งการด่วนที่สุดให้กรมส่งเสริมการเกษตร สำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย พื้นที่ที่จะประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติอย่างเร่งด่วนทึ่สุด ล่าสุด ยังได้สั่งการด่วนไปยังหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ให้เตรียมพร้อมมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติหลังน้ำลดในทันที โดยเบื้องต้นได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือเยียวยาให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้ก่อนเกิดภัย โดยจะจ่ายเงินช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหายรายละไม่เกิน 30 ไร่ ซึ่งกำหนดให้นาข้าวได้รับอัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ได้รับอัตราไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ ได้รับอัตราไร่ละ 1,690 บาท ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ส่วนมาตรการช่วยเหลือด้านอื่นๆ ได้เตรียมการให้ผลิตชีวภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช เช่น ไตรโคเดอร์มา (Trichoderma harzianum) ซึ่งถือเป็นเชื้อรามหัศจรรย์ ช่วยป้องกันและควบคุมเชื้อโรคพืชได้หลายชนิด เช่น โรครากและโคนเน่า ผลเน่า ใบจุด ใบไหม้ ใบเหี่ยว ราดำฯและใช้ได้หลากหลายพืชพันธุ์ เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง ลองกอง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน พริก มะละกอ พืชผัก ข้าว ไม้ดอก-ไม้ใบ เป็นต้น สำหรับแจกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรหลังน้ำลดในทันที โดยสารชีวภัณฑ์จะสามารถช่วยลดผลกระทบจากโรคพืชที่มากับน้ำได้ พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงหลังน้ำลดลงเกษตรกรจะต้องประสบปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มที่เป็นนาข้าว ควรเข้าไปแนะนำให้เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกโดยเร็วที่สุดเพื่อปล่อยให้ดินแห้งเพื่อไม่ให้ต้นข้าวเน่าตาย นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้กรมพัฒนาที่ดิน เตรียมผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ เช่น น้ำหมักชีวภาพ พด.2 อัตรา 5 ลิตร/ไร่ ใส่ในนาข้าวเพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตกรณีน้ำท่วมขังแปลงนาต้นข้าวเน่าตาย หรือบ้านเรือนชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เขตเมือง มีน้ำนิ่งท่วมขัง เน่าเหม็น ให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 เป็นสารบำบัดน้ำเน่าเสีย ช่วยขจัดกลิ่นเหม็น และยังสามารถกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญได้ โดยใช้อัตรา 1 ลิตร ต่อปริมาณน้ำในนา 10 ลูกบาศก์เมตร ทุก 10 วัน หรือถ้ามีกลิ่นเหม็นมากใส่ทุก 3 วัน จนกว่าจะหมดกลิ่นเหม็นที่มีน้ำเน่าท่วมขัง และหากพบปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อรา แนะให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ที่มีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าในต้นพืชได้อย่างดี และให้มีการพักดินในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมสักระยะหนึ่ง ซึ่งการพักดินเป็นการปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีหนึ่ง โดยอาจปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินไว้ เช่น ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า เป็นต้น ส่วนในระยะยาวให้สถานีพัฒนาที่ดินสำรวจความต้องการของชุมชนในการขุดลอกแหล่งน้ำหรือสระน้ำเพื่อเป็นการรับมือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป “ยังได้สั่งการให้กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เตรียมเมล็ดพันธุ์พืชข้าวพืชที่ใช้น้ำน้อย เตรียมมาปลูกหลังจากนี้เพื่อให้พี่น้องเกษตรมีรายได้เสริม และแหล่งน้ำทุกแห่งที่นำน้ำไปเก็บไว้ หรือแหล่งน้ำสาธารณะจะให้กรมชลประทานนำพันธุ์ปลา พันธุ์กุ้งไปปล่อย เพื่อหลังจากนี้ 3-4 เดือน พี่น้องประชาชนจะได้มีรายได้จากตรงนี้ไปใช้ในครอบครัวอีกด้วย”นายเฉลิมชัย กล่าว