วันนี้ (16 ก.ย.2562) นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคม ลงพื้นที่ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ผู้นำอาหารสิ่งของยังชีพช่วยเหลือประชาชนที่อยู่อาศัยในชุมชน 2 ฝั่งริมแม่น้ำมูลซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยหนัก โดยกรมเจ้าท่าได้ร่วมกับ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี เร่งแจกจ่ายส่ิ่งของช่วยเหลือ ด่วนพบว่าประชาชนจำนวนมากยังมีสภาพบ้านเรือนถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร โดยจำนวนไม่น้อย ต้องมาอาศัยตามเต็นท์ริมถนน และส่วนหนึ่งโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่ยังไม่ย้ายออกจากบ้าน แม้จะมีสภาพน้ำท่วมสูงเนื่องจากเป็นห่วงทรัพย์สิน นายอธิรัฐ กล่าวว่า ได้ให้กรมเจ้าท่า ประสานงานกับหน่วยงานอื่น เร่งนำสิ่งของช่วยเหลือมอบแก่ประชาชนไปจนกว่าสภาวะน้ำท่วมจะคลี่คลาย นอกจากนี้ในส่วนของการฟื้นฟูนั้นได้สั่งการให้กรมเจ้าท่า เร่งสำรวจ ใน 2 ส่วน คือตลิ่งและ ท่าเรือ ริมฝั่งแม่น้ำที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและจำเป็นต้องเข้าบูรณะซ่อมแซม ส่วนที่ 2 คือ สภาพน้ำท่วมที่ส่งผลให้เกิดการตกตะกอนและจำเป็นต้องเร่งขุดลอกร่องน้ำใหม่ ก็ให้เร่งดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว โดยการสำรวจในส่วนหลังนี้ขอให้ดำเนินการทั่วประเทศไม่เฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ ทางกรมเจ้าท่าได้ประเมินความเสียหาย และงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในการบูรณะจนถึงการขุดลอกร่องน้ำประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท โดยต้องใช้ขุดลอกตะกอนและกำจัดสิ่งกีดขวางลำน้ำ ที่ไหลมากับกระแสน้ำ รวมถึงอาจต้องมีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง และซ่อมแซมเขื่อนป้องกันตลิ่งพังของกรมเจ้าท่าในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า เตรียมงบประมาณฟื้นฟูในส่วนของกรมเจ้าท่า ในการบำรุงรักษาทางน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2563 จำนวน 78.9493 ล้านบาท เพื่อขุดลอกบำรุงรักษาทางน้ำจำนวน 22 แห่ง ระยะทาง 170 กิโลเมตร ปริมาณวัสดุที่ต้องขุดลอก 2.542 ล้านลูกบาศก์เมตร และก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง 2 โครงการเป็นงบผูกพันปี 2563 - 2564 รวมเป็นเงิน 76 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเกิดอุทกภัยขึ้นและทำให้ลำน้ำหลายสายได้รับผลกระทบรวมถึงมีซากต้นไม้และสิ่งของต่างๆ ที่ไหลมากับกระแสน้ำไหลลงสู่ลำน้ำ ทางกรมเจ้าท่าจะปรับแผนมาดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาในโอกาสแรกก่อน และจะเสนอของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป นอกจากนี้ยังได้จัดทำแผนการขุดลอกลำคลอง แม่น้ำ เพื่อเตรียมพร้อมภัยแล้งต่อ โดยกรมเจ้าท่า มีแผนแม่บทด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทภัย ภายใต้เป้าหมาย/ตัวชี้วัดแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (เป้าหมายปี 61-80) ตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การกำกับของสำนักงานทรัพยากรแห่งชาติ โดยในปี 2564 ตามแผนแม่บทจะต้องดำเนินการปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติที่ตื้นเขินให้สามารถระบายน้ำได้มีประสิทธิภาพ จำนวน 58 แห่ง ระยะทาง 902 กิโลเมตร ปริมาณวัสดุที่ต้องขุดลอก 29 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสำรวจออกแบบพื้นที่เป้าหมายที่ต้องปรับปรุงลำน้ำ ระยะทาง 800 กิโลเมตร ตลอดจนศึกษาและทบทวนผลการศึกษาลุ่มน้ำสายหลักตามแผนแม่บทให้เป็นปัจจุบันตลอดเวลา งบประมาณภาพรวมทั้งประเทศ 2,113.460 ล้านบาท และงบประมาณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 600 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากได้รับงบประมาณตามแผนแม่บทที่วางไว้จะสามารถปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติที่ตื้นเขินให้สามารถระบายน้ำได้มีอย่างประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงเครือข่ายลุ่มน้ำ ทั้งในและนอกเขตชลประทาน ซึ่งเป็นการป้องกันและช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นและยังเป็นการรักษาสภาพลำน้ำ ให้คงสภาพตามธรรมชาติ สนับสนุนองค์กรลุ่มน้ำ ตลอดจนเพิ่มพื้นที่แก้มลิงกักเก็บน้ำธรรมชาติในลำน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งต่อไปได้ด้วย