16 กันยายน 2562, กรุงเทพ – บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทอาหารทะเลชั้นนำของโลก คว้าอันดับ 1 ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ในผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารของโลก เป็นปี 2 ติดต่อกัน ปัจจุบันบริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน สืบเนื่องจาก กลยุทธ์ความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน หรือ SeaChange® ที่เป็นตัวขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนของบริษัททั่วโลก ไทยยูเนี่ยนนับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการได้คะแนนสูงสุดที่ 100 เปอร์เซ็นไทล์ ในด้านความยั่งยืนโดยรวม นอกจากนี้ ยังได้รับคะแนนสูงสุดในหัวข้อ 1) จรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงาน 2) สุขภาพและโภชนาการ 3) การสรุปประเด็นที่มีนัยสำคัญ 4) การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน 5)การรายงานด้านสิ่งแวดล้อม 6) การพัฒนาเทคโนโลยีด้านชีวภาพ 7) ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในเรื่องน้ำ 8) สิทธิมนุษยชน และ 9) การสร้างแรงจูงใจและรักษาพนักงานที่มีศักยภาพสูงสุดขององค์กร นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า“นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เราได้รับคัดเลือกติดดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์อีกครั้ง ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานด้านความยั่งยืนทั่วโลกของเรา ที่ไทยยูเนี่ยน ความยั่งยืนคือแกนหลักของธุรกิจ และมีส่วนในการตัดสินใจทางธุรกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยแบรนด์ต่างๆ ที่เรามีวางจำหน่ายในทวีปต่างๆ ทั่วโลก เรามุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับอุตสาหกรรมอาหารทะเล” ดร. แดเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการองค์กรและความยั่งยืน ไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า “เป็นช่วงเวลาที่น่าภาคภูมิใจมากสำหรับทุกคนในไทยยูเนี่ยน ทีมงานของเราทั่วโลกทำงานกันอย่างหนักทุกวัน เราพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อที่เราจะทำให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลกมีความยั่งยืนมากขึ้น ท้องทะเลของโลกมีความยั่งยืนมากขึ้น และธุรกิจของเรามีความยั่งยืนมากขึ้น” ในแต่ละปี มีบริษัทมากกว่า 3,000 แห่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประเมินด้านความยั่งยืนของธุรกิจ Corporate Sustainability Assessment (CSA) ของบริษัท RobecoSAM โดยบริษัทที่ได้รับเลือกเข้ามาอยู่ในดัชนี จะต้องผ่านการประเมินด้านต่างๆ ครอบคลุมเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมในระยะยาว ทั้งในแง่ความยั่งยืนทั่วไปและแนวโน้มความยั่งยืนเฉพาะอุตสาหกรรม เมื่อช่วงต้นปี ไทยยูเนี่ยนได้เผยแพร่รายงานความยั่งยืนปี 2561 โดยมีรายละเอียดความคืบหน้าของการดำเนินงานเชิงบวกที่ทำในปีที่ผ่านมา และนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานของบริษัท เทียบกับตัวชี้วัดหลักและเป้าหมายที่ตั้งไว้ในกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนของบริษัท หรือที่เรียกว่า SeaChange® ไทยยูเนี่ยนยังมีทำงานที่ริเริ่มในปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมความพยายามด้านความยั่งยืนของเรา เช่น การทำงานร่วมกับ GGGI (Global Ghost Gear Initiative) เพื่อผลักดันปัญหาเรื่องการลดขยะพลาสติก และลดปัญหาการเพิ่มขึ้นของอุปกรณ์ประมงที่ถูกทิ้งและสูญหายไปในทะเลทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทฯ มีการเผยแพร่รายงานความก้าวหน้าประจำปีพันธกิจการจัดการปลาทูน่าแบบยั่งยืนครั้งแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การจัดหาวัตถุปลาทูน่าทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตภัณฑ์แบรนด์ของบริษัทต้องมาจากแหล่งประมงที่ยั่งยืน SeaChange® เป็นแผนบูรณาการริเริ่ม ซึ่งประกอบด้วย 4 โครงการหลักคือ 1) แรงงานปลอดภัยและแรงงานที่ถูกกฎหมาย 2) การจัดหาวัตถุดิบด้วยความรับผิดชอบ 3) การดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบ และ 4) ผู้คนและชุมชน SeaChange® มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับทั้งอุตสาหกรรรมอาหารทะเลของโลก รวมถึงเพื่อช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายการขจัดความหิวโหย การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล นอกจากการติดดัชนี DJSI แล้ว เมื่อปีที่ผ่านมาไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับในดัชนี FTSE4Good ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ติดต่อกัน 3 ปี ซึ่งเป็นการจัดอันดับโดยฟุตซี รัสเซล โดยดัชนีดังกล่าวเปิดตัวในปี 2544 เพื่อช่วยนักลงทุนตระหนักถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล (ESG) ในการตัดสินลงทุน และเป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท ความพยายามด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน ทำให้บริษัทฯ ได้รับรางวัลจำนวนมากในปีนี้ เช่น การได้รับรางวัลผู้นำด้านห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนกับ WWF-UK ในงานประกาศรางวัลผู้นำด้านความยั่งยืน จาก edie ดร.แดเรี่ยน แมคเบนได้รับรางวัล Asia’s Top Sustainability Superwomen จาก CSRWorks ขณะเดียวกันแบรนด์ John West ซึ่งเป็นแบรนด์ของไทยยูเนี่ยน ได้รับรางวัลชนะเลิศแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องประจำปี 2562 ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นปีที่สามติดต่อกัน จากสำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานการประมง (MSC)