เกษตรกรไร่อ้อย จำนวน 5,000 รายสมัครใจร่วมอบรมการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ตามมาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมร้องขอใช้สารเคมีดังกล่าวต่อไป อย่าแบน เนื่องจากยังไม่มีสารทดแทนที่เหมาะสม นายกิตติ ชุณวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม จัดโครงการอบรมความรู้การใช้สารกำจัดวัชพืช ให้กับเกษตรกรของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ตามหลักสูตรของกรมวิชาการเกษตรและมาตรการจำกัดการใช้ เมื่อผ่านการทดสอบแล้ว เกษตรกรจึงมีสิทธิ์ไปซื้อและใช้สารดังกล่าวที่ร้านค้าได้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 20 ต.ค.62 สำหรับโครงการดังกล่าว ได้รับความสนใจจากโรงงานน้ำตาล และเกษตรกรไร่อ้อยเป็นจำนวนมากจากทั่วประเทศ เพราะทั้งโรงงาน และเกษตรกรยังมีความจำเป็นในการใช้สารกำจัดวัชพืช หนึ่งในพื้นที่สำคัญในการเร่งสร้างความรู้และการปฏิบัติอย่างถูกต้องคือ จ.หนองบัวลำภู โดยมีเกษตรกรไร่อ้อยและกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลเข้าร่วมมากถึง 5,000 ราย โดยศูนย์ส่งเสริมอ้อยและน้ำตาลเขต 4 ภาคอิสาน ได้จัดวิทยากรลงให้ความรู้แก่เกษตรกร ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรยังเห็นถึงความจำเป็นของสารพาราควอตในไร่อ้อย นายเตชิต วีระชาติยานุกูล รองนายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ เอราวัณ และเกษตรกรไร่อ้อยกล่าวว่า การใช้สารเคมีดังกล่าว ยังมีความจำเป็นอยู่มาก เนื่องจากเครื่องจักรที่ใช้ไม่สามารถกำจัดวัชพืชได้หมดและแรงงานคนในพื้นที่หายาก ไม่มีใครอยากทำงานแรงงาน ทั้งนี้เกษตรกรจะใช้พาราควอตปีละ 1-2 ครั้ง โยครั้งแรกใช้ในช่วงต้นที่อ้อยกำลังเติบโต พอใบอ้อยชนกันคลุมดินแล้ว หญ้าจะไม่เติบโต ไม่จำเป็นต้องฉีดพ่น ส่วนอีกครั้งใช้หลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว ฉีดเพื่อให้หญ้าตายแล้วไถ่กลบเพื่อเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูกครั้งต่อไป นายบุญถิ่น จิตผล เกษตรกรไร่อ้อย จังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า พาราควอต จำเป็นต่อการทำไร่อ้อย ยังไม่มีสารอื่นทดแทนได้ หากไม่มีชีวิตเกษตรกรก็เหมือนเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ไม่เพียงแต่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น วิธีการเพาะปลูกต้องเปลี่ยนแปลง สำหรับโครงการนี้ช่วยให้ได้รับความรู้และสามารถปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช และสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่เพื่อนเกษตรกรได้ต่อไป ขณะที่โรงงานน้ำตาลในพื้นที่กล่าวสนับสนุนว่า การจัดอบรมและสอบวัดความรู้เพื่อขึ้นทะเบียนเกษตรกร เป็นโครงการที่ดี ช่วยสร้างความตระหนัก ความรู้ และการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชอย่างปลอดภัย แต่ด้วยระยะเวลาที่จำกัด ข้อจำกัดและเงื่อนไขในการอบรมหลายประการ ทำให้การขึ้นทะเบียนอาจมีความล่าช้า ไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้ ดังนั้น ควรขยายระยะเวลาหรือความร่วมมือไปยังหน่วยงานระดับท้องถิ่นมาสนับสนุนเพิ่มเช่น องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ (อกท.) จะทำให้สามารถอบรมและสอบได้ครอบคลุมมากขึ้น ด้านกลุ่มเกษตรกรไร่อ้อย มีความเห็นตรงกันว่า ไม่ควรแบน สารกำจัดวัชพืช พาราควอต เห็นด้วยกับมาตรการที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ออกทำการฝึกอบรมและสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้สามารถใช้สารเคมีได้อย่างถูกต้อง เพราะจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน รวมทั้งขอให้ภาครัฐคำนึงถึงระบบเกษตรของไทย ทั้งแบบใช้สารเคมี (มาตรฐาน GAP) และแบบไร้สารเคมีที่จำเป็นต้องสร้างความสมดุลทั้งสองระบบ ไม่สามารถพึ่งพาระบบใดระบบหนึ่งได้เพียงอย่างเดียว เพื่อให้ไทยก้าวสู่ยุคไทยแลนด์4.0 เป็น ครัวของโลกได้อย่างแท้จริง