นับแต่นี้ต่อไป ลากไกลถึงอนาคต มนุษย์โลกเราก็มีแนวโน้มว่าจะอยู่ร่วมกับ “หุ่นยนต์” หรือ “โรบอต (Robot)” กันมากขึ้น แถมมิหนำซ้ำก็มิใช่หุ่นยนต์ธรรมดาๆ แต่ทว่า ยังเป็นระดับ หุ่นยนต์ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ (AI : Artificial Intelligence) ที่มากความสามารถ ทรงประสิทธิภาพอีกต่างหากด้วย โดยหุ่นยนต์เอไอ ได้แทรกซึมเข้าไปในกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์เราหลายภาคส่วนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการผลิตภาคอุตสาหกรรมหนัก อย่างการผลิตรถยนต์ เป็นต้น การทำงานในพื้นที่เสี่ยงภยันตราย อย่างการทำงานในพื้นที่สูงชัน รวมไปถึงการเก็บกู้วัตถุระเบิด เป็นอาทิ ตลอดจนการใช้งานในภาคบริการ เช่น หุ่นยนต์แผนกต้อนรับลูกค้าหน้าเคาน์เตอร์ หุ่นยนต์รับคำสั่งและเสิร์ฟอาหารในร้านอาหารที่ใช้โรบอตแทนพนักงานที่เป็นมนุษย์ตัวเป็นๆ ล่าสุด โรบอตเอไอ ก็ได้ขยายไลน์สู่ภาคเกษตรกรรมอย่างสุดล้ำไป แบบได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้ากว่าหุ่นยนต์เอไอรุ่นที่ผ่านมาไปอีกขั้น ภายหลังจากที่ก่อนหน้า หุ่นยนต์เอไอถูกนำไปใช้ช่วยส่งเสริมด้านผลิตทางการเกษตรมาสักระยะหนึ่งแล้ว ทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศ อาทิเช่น การใช้ “อากาศยานไร้คนขับ” หรือ “โดรน” ซึ่งเป็นหนึ่งในโรบอตเอไอ โดยถือเป็น “หุ่นยนต์เอไอทางอากาศ” ในการโปรยหว่านเมล็ดพันธุ์พืช และการฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืชจากอากาศ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดทั้งการใช้แรงงานและลดความเสี่ยงด้านปัญหาสุขภาพของเกษตรกร นอกจากนี้ ก็ยังมีการใช้ประโยชน์ด้วยการให้เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ในหุ่นยนต์เอไอภาคพื้นดิน อย่างไรก็ตาม สมรรถนะของโรบอตเอไอภาคพื้นดิน เพื่อใช้ในการเก็บผลผลิตทางการเกษตรครั้งกระนั้น ก็ยังมีประสิทธิภาพไม่ดีเท่าที่ควร โดยผลผลิตทางการเกษตรที่หุ่นยนต์เก็บมา คือ เด็ดออกจากขั้ว ปลิดออกจากกิ่งก้านนั้น ผิวช้ำบ้าง หรือถึงขั้นถลอกปอกเปิกกันเลยก็มี รวมไปถึงการสุกงอมที่ยังไม่ได้ที่ จำนวนไม่น้อย เป็นเหตุให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ คือ แทนที่จะขายได้ ก็กลับต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ส่งผลให้บรรดาคณะวิศวกรรมศาสตร์ด้านโรบอติก หรือหุ่นยนต์เอไอทั้งหลาย ได้พยายามพัฒนาสมรรถนะให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ทางคณะวิศวกรโรบอตของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ก็ได้เผยโฉมประโคมถึงสมรรถนะของหุ่นยนต์เอไอด้านการเกษตรรุ่นใหม่ พร้อมระบุว่า ถึงผลประสิทธิภาพที่ทดลองออกมาได้ และตั้งชื่อให้ว่า “เวจจิบอต (Vegebot)” แปลเป็นไทย ก็อาจได้ความว่า หุ่นยนต์ หรือโรบอตพืชผัก อะไรทองนั้น สมรรถนะของ “เวจจิบอต” ที่ทางทีมวิศวกรหุ่นยนต์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวอ้าง ระบุว่า สามารถเก็บเกี่ยวโดยที่ผลผลิตทางการเกษตรแทบจะไม่เสียหายเลย หลังจากการทดสอบประสิทธิภาพด้วยการให้เก็บ “ผักกาดแก้ว” หรือ “ผักสลัดแก้ว (Iceberg lettuce)” ที่ฟาร์มปลูกผักดังกล่าว แบบว่า ใบผักแทบจะไม่ช้ำ หรือถลอกปอกเปิกเฉกเช่นหุ่นยนต์รุ่นก่อนๆ ใช่แต่เท่านั้น “เวจจิบอต” ยังสมรรถนะด้านการจำแนกแยกแยะผลผลิตทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งกว่าอีกด้วย คือ สามารถเก็บผักกาดแก้วในช่วงเวลาที่กำลังรับประทานพอดี ไม่อ่อนจนเกินไป ทั้งนี้ มิใช่แต่เฉพาะผักกาดแก้วเท่านั้น แม้ผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ หุ่นยนต์ “เวจจิบอต” ก็สามารถแยกแยะคัดกรองได้ผลผลิตที่สุกงอมกำลังรับประทาน ไม่อ่อน หรือห่ามจนเกินไปได้อีกด้วย คณะผู้พัฒนา “เวจจิบอต” บอกว่า ได้ใส่กล้องบันทึกภาพ และตัวเซ็นเซอร์เข้าไปในส่วนของการประมวลผล เมื่อได้ภาพมาแล้ว ก็จะนำไปประมวลผลกับข้อมูลภาพที่คณะผู้พัฒนา ป้อนเอาไว้ในหน่วยความจำ ซึ่งจะทำให้หุ่นยนต์สามารถคำนวณได้ว่า จะเก็บผลผลิตทางการเกษตรที่อยู่เบื้องหน้าได้หรือไม่ โดยทางทีมวิศวฯ เผยว่า เจ้า “เวจจิบอต” รุ่นนี้ สามารถประมวลและแยกแยะได้อย่างแม่นยำถึงร้อยละ 91 เลยทีเดียว ส่วนการเก็บเกี่ยว ก็มีอุปกรณ์การตัด แบบใบมีดคมกริบ และมีอุปกรณ์ป้องกัน เพื่อไม่ให้ผลผลิตฯ ที่ตัดมาได้เกิดการกระทบกระแทก ทว่า ถึงกระนั้นก็ดี ทางทีมวิศวฯของเคมบริดจ์ ระบุว่า ยังต้องพัฒนาเจ้า “เวจจิบอต” ต่อไปให้เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรรวดเร็ซกว่านี้ เพราะแต่ละลูกแต่ละผลใช้เวลาไปถึง 31 วินาที ซึ่งถือว่า ยังช้ากว่าแรงงานคนอยู่มาก ขณะที่ ทางฝั่งทีมวิศวกรหุ่นยนต์ของเบลเยียม ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ได้ “ปล่อยของ” เป็น หุ่นยนต์เอไอที่มีชื่อว่า “อ็อกติเนียน (Octinion)” ออกมา พร้อมโชว์สมรรถนะที่สามารถเก็บผลสตรอว์เบอร์รีได้อย่างประสิทธิภาพ คือ ผิวเปลือกของสตรอว์เบอร์รีไม่ช้ำเลย ซึ่งหุ่นยนต์ที่ว่า ก็สามารถนำไปเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ที่มีเปลือกนิ่ม หรืออ่อน ได้อย่างที่เกษตรกรไม่ต้องกังวล กลับเป็นฝ่ายของบรรดานักวิเคราะห์ด้านแรงงาน ที่ออกมาแสดงความกังวลแทน โดยเป็นความกังวลแทนต่อแรงงานคนที่ทำมาหาเลี้ยงชีพจากการรับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรว่า กำลังเจอคู่แข่งตัวฉกาจจากแรงงานสมองกลเหล่านี้อีกอาชีพหนึ่ง ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรงเหลือหลาย