ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจสินเชื่อเพื่อธุรกิจ Consumer finance เริ่มเห็นแสงสว่างกันอีกครั้ง หลังจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ออกมายืนยันว่าในปีนี้จะยังไม่มีการออกมาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด หรือ debt service ratio (DSR) limit เพิ่มเติม และอยู่ระหว่างการร่วมกับสถาบันการเงินใน 2 เรื่องคือ การกำหนดมาตรฐานกลางในการคำนวณ DSR ทั้งในส่วนภาระหนี้ และรายได้ของผู้กู้ ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีวิธีการคำนวณที่แตกต่างกัน และล่าสุดได้มีข้อตกลงมาตรฐานกลางร่วมกัน น่าจะเริ่มรายงานข้อมูลได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ขณะเดียวกันสถานการณ์ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอ ภาคธนาคารแต่ละประเทศต่างพากันปรับลดอัตราดอกเบี้ยลดลง เช่นเดียวกัน ธปท.ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก รวมทั้งนักวิเคราะห์บางแห่งยังมีการคาดการณ์ว่าในครึ่งปีหลังอาจจะได้เห็นการปรับอัตราดอกเบี้ยลดลงอีกครั้ง อย่างไรก็ตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลดีจากการปรับลดลงอัตราดอกเบี้ยลงในทุกครั้งคือ กลุ่มธุรกิจสินเชื่อรายย่อย เช่นเดียวกับบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ซึ่งดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถ และสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นหนึ่งในบริษัทที่คาดจะได้รับอานิสงส์ในครั้งนี้ เนื่องจากต้นทุนทางการเงินจะลดลง ความสามารถในการทำกำไรจะสูงขึ้น ขณะที่จำนวนสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนเช่นกัน ปัจจุบัน MTC มีสาขาในการให้บริการรวม 3,739 แห่ง โดยในครึ่งปีแรกได้เปิดสาขาใหม่ 460 แห่ง และบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีจำนวนสาขาครบ 3,900 แห่งภายในสิ้นปี 62 ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอลเปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลัง บริษัทได้ปรับกลยุทธ์เป็นการขยายตัวด้วยความระมัดระวังมากขึ้น แต่ยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไว้ได้ โดยคาดว่ารายได้และยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 2562 จะเติบโตประมาณ 25-30% ทั้งนี้ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาส 2/62 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.09% จากไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 1.04% อัตราที่เพิ่มขึ้นจะมาจากธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อรถจักรยานยนต์ แม้จะเน้นลูกค้าเก่าที่มีประวัติดีก็ยังพบแนวโน้ม NPL เพิ่มขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ดังนั้นในครึ่งปีหลัง บริษัทจะหันมาให้ความสำคัญกับการดูแล และการบริหารหนี้ ซึ่งทำให้การปล่อยสินเชื่ออาจไม่ร้อนแรงเท่ากับในอดีต อย่างไรก็ตามนโยบายของการตั้งสำรองในครึ่งปีหลังนั้น บริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรก โดยในช่วงไตรมาส 2/62 มีสัดส่วนอยู่ที่ 1.44% ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างรอความชัดเจนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เกี่ยวกับมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) แต่ในเบื้องต้นเชื่อว่ากฏเกณฑ์ที่จะออกมาไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรกับบริษัท เนื่องจากมีการตั้งสำรองไว้ในระดับสูงเกินเกณฑ์อยู่แล้ว และหากกฎเกณฑ์ออกมาในทิศทางที่จะทำให้บริษัทตั้งสำรองลดลง บริษัทยังสามารถนำเงินที่ตั้งสำรองส่วนเกินไว้ ตีกลับมาเป็นกำไรได้อีกด้วย “เรายังคงต้องรอติดตามนโยบายต่างๆของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับเกษตร แต่โดยภาพรวม บริษัทประเมินว่าทั้งรายได้และกำไรยังคงทำนิวไฮต่อเนื่อง เพราะมีการเปิดสาขาเพิ่มขึ้นทำได้ตามเป้าหมาย แต่อัตราการเติบโตคงไม่สูงมากนัก” ทั้งนี้ MTC ได้รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 2/62 มีกำไรสุทธิ 1,020.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.95% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 912.18 ล้านบาท จากรายได้รวมมี 3,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.10% ส่งผลงวด 6 เดือนแรก มีกำไรสุทธิ 2,026.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,745.81 ล้านบาท ในด้านคุณภาพหนี้ หรืออัตราส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 1.09% ดีขึ้นจากสิ้นปี 61 ที่อยู่ 1.12% เนื่องจากการติดตามหนี้ และการควบคุมกระบวนการปล่อยสินเชื่อของบริษัท