ปณท.เดินหน้าทดลองใช้ รถยนต์ไฟฟ้าขนพัสดุรับเทรนด์โลก ประหยัดพนักงาน-เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม-ต้นทุนต่ำแค่ กม.ละ 50 สต. นางสมร เทิดธรรมพิบูลย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) เปิดเผยว่า โครงการนำรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาใช้ในการขนส่งไปรษณีย์ เราคุยเรื่องนี้มานานกว่า 4 ปีแล้ว เมื่อก่อนเคยนำเข้ามาทดลองใช้ 2 คันที่ จ.เชียงใหม่ ในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ตอนนั้นยังไม่ตอบโจทก์ ยังมีปัญหาหลายอย่าง จึงหยุดโครงการไป เรื่องนี้ต้องรอบคอบ เพราะไปรษณีย์ไทย ไม่ใช่องค์กรที่มีรายได้มากมาย ยิ่งตอนนี้มีการแข่งขันตัดราคากันอีก แม้ว่าชิ้นงานของเราจะไม่ลดลง แต่ราคาได้ไม่เหมือนเก่า อย่างไรก็ตามเรื่องการนำรถ EV มาใช้ในการขนส่งพัสดุไปรษณีย์ ยังมีแนวคิดอยู่ เพราะมองเรื่องประหยัดต้นทุน ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมองหารถที่มีคุณภาพเหมาะสม โดยเซ็นเอ็มโอยูกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)ให้เป็นผู้รับจัดหารถยนต์ EV ให้ เป็นการเซ็นสัญญาระหว่างองค์กรรัฐด้วยกัน รถ EV ที่ กฟภ. นำมาเสนอในครั้งนี้ จากที่ประเมินเบื้องต้นโอเค แต่เป็นรถที่เหมาะกับการนำส่งพัสดุตามบ้าน ไม่ใช่รถบรรทุกขนาดใหญ่ วันนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นซึ่งต้องทดสอบดูว่าใช้งานได้จริงตามความต้องการหรือไม่ นายชัยยุท สัฏชนะ หัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์คลองหลวง กล่าวว่า รถที่ กฟภ.นำมามอบให้ทดลองใช้ในครั้งนี้เคยทดสอบขับดูแล้วใช้ได้ไม่มีปัญหา คือดูว่า แบตเตอรี่เหลือเพียงแค่ 30% ยังใช้ได้หรือไม่ พบว่ารถรุ่นนี้ออกตัวดีเหมือนรถยนต์ทั่วไป แต่เสียงเงียบ เคยทดสอบขับลุยน้ำ 30 ซ.ม.ก็ไม่มีปัญหาอะไร ใช้ง่าย ประหยัดพลังงาน ค่าใช้จ่ายเพียง กม.ละ 0.50 บาท ขณะที่รถใช้น้ำมันต้นทุนตกกม.ละ 2-3 บาท ทั้งนี้ข้อสำคัญที่ผ่านมา เราใช้บัตรเติมน้ำมันให้พนักงานไปรษณีย์ ซึ่งควบคุมค่าใช้จ่ายได้ยากคือไม่รู้ว่าเมื่อเติมแล้ววิ่งในงานหรือนอกงาน จอดนอนหรือเอาไปเติมคันอื่นตรวจสอบยาก แต่ถ้าใช้รถ EV จะแก้ปัญหาได้หมดคือพนักงานขับรถต้องมาชาร์จไฟที่สำนักงาน ตัดปัญหาเรื่องการควบคุมค่าใข้จ่ายบัตรเติมน้ำมันไปได้ โดยจากนี้ไปต้องดูว่าเวลาไปวิ่งถนนหลวง ซึ่งใช้ระยะทางประมาณ 160 กม.ต่อวัน ใช้ได้จริงหรือไม่ ซึ่งตามสมรรถนะของรถสามารถชาร์จครั้งเดียววิ่งได้ 300 กม. ทดลองเบื้องต้นพบว่าใกล้เคียง ตอนนี้จึงทดลองนำไปใช้วิ่งในสาขาคลองหลวง ที่มีพื้นที่มากถึง 327 ตร.กม.ทดสอบดูในพื้นที่ว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ นายเลิศชาย แก้ววิเชียร ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไล่มาแต่เริ่มเลย คือทาง กฟภ. ร่วมกับ ปณท. เซ็นเอ็มโอยูเพื่อจัดหารถ EV ประหยัดพลังงาน ลดมลภาวะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งทาง กฟภ.ได้เปิดธุรกิจใหม่ใน 2 ด้าน ด้วยกันคือ 1.ธุรกิจประหยัดพลังงาน ประหยัดการใช้ไฟฟ้าในอาคาร เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟ แอร์ การติดตั้งโซลาเซลส์สำหรับอาคาร2.การจัดหารถ EV ให้กับองค์กรต่างๆ โดยที่ กฟภ.เป็นผู้ลงทุนให้ทั้งหมด องค์กรต่างๆทยอยจ่าย และคิดค่าใช้จ่ายต่ำจากอัตราประหยัดพลังงาน เช่น ประหยัดพลังงานได้ 100 บาท องค์กรต่างๆจ่ายให้ กฟภ.เพียง 90 บาท “เรื่องรถยนต์ EV ก็เหมือนกัน เรามีหน้าที่จัดหารถที่มีเทคโนโลยีเหมาะสมมาให้องค์กรต่างๆ ใช้ ตรงนี้เป็นเทรนด์ของโลก กรณีของ ปณท.เราต้องจัดหารถที่มีคุณภาพมาให้ เป็นรถที่ใช้งานได้จริง ประหยัดพลังงาน คุ้มค่ากว่ารถใช้น้ำมัน อย่างของ บริษัทแอดวานซ์ เพาเวอร์เทค จำกัดที่นำมาเสนอนี้ ตามสเป็คระบุว่า ชาร์จครั้งเดียววิ่งได้ 300 กม.เป็นจริงหรือไม่ เราต้องตรวจสอบวัดผลดู กฟภ.เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้เรามีการวิจัยมานาน ต้องมองว่าคุ้มค่า เหมาะสมกับงาน เช่น ต้องการบรรทุกน้ำหนักเท่านี้ วิ่งได้กี่กม. ก็ต้องจัดหามาทดสอบจนพอใจแน่ใจ ซึ่งทาง ปณท.ไม่ต้องซื้อ เราจัดหามาให้เช่าเอง” ทั้งหมดนี้เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องของ กฟภ.ให้องค์กรต่างๆได้ใช้ของดีราคาถูก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน และจากการที่ไปดูโรงงานผลิตรถยนต์ที่จีน และการใช้รถยนต์ EV ในจีน ตอนนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดามากใช้กันเป็นเรื่องปกติทั่วไป เมื่อกลับมาจึงนำรถเข้ามาทดสอบว่าสามารถวิ่งได้จริงตามสเป็คที่ต้องการหรือไม่ และจีนมีอากาศหนาว เมื่อนำมาใช้ในไทยแบตตเตอรี่มีปัญหาหรือไม่ ซึ่งได้ทดสอบแล้วพบว่าวิ่งได้ใกล้เคียง 300 กม.ต่อการชาร์จครั้งเดียว เสียค่าพลังงานแค่กม.ละ 0.50 บาทถูกกว่าน้ำมันที่ต้นทุนกม.ละ 2-3 บาท จึงนำมาเสนอต่อ ปณท.ตามที่ได้เซ็นเอ็มโอยู "ข้อสำคัญคือ เราต้องพิสูจน์ให้คนทั่วไป และภาคเอกชนเห็นว่า รถ EV ใช้งานได้จริง ต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นการเอื้อประโยชน์ระหว่างหน่วยงานรัฐ ถ้าใช้งานได้จริงได้ดี ต่อไปภาคเอกชนเกิดความมั่นใจก็จะจัดหามาใช้กันเอง เราเป็นภาครัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริม ใช้ให้ดูเป็นตัวอย่าง”