กรมชลฯ สั่งลดระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เหลือ 750ลบ.ม.ต่อวินาที กักน้ำไว้ใช้ฤดูแล้ง ระบุวิกฤติอุทกภัยรอบ20ปีภาคอีสาน เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำเมืองอุบลฯลดลงเฉลี่ยชม.ละ1เซน เป็นไปตามคาดกลับสู่ปกติสิ้นเดือนนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.ย. นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าล่าสุดสั่งลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ลงในอัตรา 750 ลบ.ม.ต่อวินาที จาก800ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจากจะลดการระบายลงไปเรื่อยๆกักน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งจะถึงอีก1เดือนข้างหน้า หากไม่มีฝนตกมาก ซึ่งปัจจุบันแม่น้ำปิง ระดับน้ำลดเหลือ114 ลบ.ม.ต่อวินาที แม่น้ำน่าน 919ลบ.ม.ต่อวินาที ไหลมารวมที่แม่น้ำเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ 1,198ลบ.ม.ต่อวินาที ปล่อยระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 750ลบ.ม.ต่อวินาที ผันเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้าย -ขวา 464 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำท่วมประจำทุกปี ยังมีน้ำท่วมตลิ่งเล็กน้อย 7 ซม. รวมทั้งต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วม จ.อุบลราชธานี เข้าสู่สภาพวะลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้บินสำรวจพื้นที่ประสบอุทกภัยหนักหลายอำเภอที่อยู่ปลายน้ำแม่น้ำมูล เช่นอ.วารินชำราบ อ.พิบูลมังสาหาร อ.สว่างวีระวงศ์ อ.โขงเจียม ก่อนที่น้ำมูลจะลงสู่แม่น้ำโขง โดยเป็นจุดรับมวลน้ำท่วมจากจังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี พร้อมสั่งการให้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มที่อ.โขงเจียม อีก100เครื่อง จากเดิม 100เครื่อง และที่บริเวณแก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร 60เครื่อง รวม260เครื่อง ทำให้ปริมาณน้ำลดลงเฉลี่ยชั่วโมงละ1เซนติเมตร(ซม.) โดยช่วงเช้าวันนี้ที่อ.เมืองอุบลราชธานี สถานีวัดน้ำM7ระดับน้ำอยู่ที่10.86 เมตร จากเดิมระดับสูงสุด 10.97 เมตร ลดเกือบ11ซม.ซึ่งการเพิ่มเครื่องผลักดันน้ำส่งผลการระบายน้ำได้มากขึ้น30%เป็นวันละ500ล้านลบ.ม.คาดว่าภายใน4-5วันประชาชนสามารถกลับเข้าบ้านเรือนได้ และสิ้นเดือนนี้ ปริมาณน้ำจะเข้าสู่ระดับตลิ่ง รวมทั้งน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่การเกษตร ดำเนินการสูบออกพร้อมกับหารือกับท้องถิ่น และเกษตรกร พื้นที่ใดกักเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงฤดูแล้งเช่นลำห้วย แก้มลิง รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าสาเหตุที่น้ำท่วมภาคอีสานลดระดับลงได้เร็วตามที่คาดการณ์ จากการจัดการปริมาณน้ำ ลุ่มน้ำชีลดระบายเขื่อนวังยาง และลำน้ำมูล ลดระบายเขื่อนราษีไศล ที่สำคัญคือลดอัตราการระบายเขื่อนใหญ่ๆเช่นเขื่อนลำปาว เขื่อนอุบลรัตน์ และหยุดการระบายเขื่อนขนาดกลางใน สาขาลำน้ำชี เพราะฝนลดลง ต้องเก็บน้ำไว้ ที่สำคัญที่สุดการเร่งอัตราการระบายน้ำ ปลายน้ำ อ.โขงเจียม กับอ.พิบูลมังสาหาร ตรงนี้ทำให้อัตราการลดระดับน้ำทำได้ดีมาก “ถ้าไม่มีอิทธิพลฝนตกเพิ่มเข้ามา เข้าสู่ภาวะปกติสิ้นเดือนนี้ ปริมาณน้ำค้างทุ่งเหลือเพียง1พันกว่าล้านลบ.ม.ที่จะไหลลงไปที่ราบลุ่มแอ่งกะทะของจ.อุบลราชธานี ก่อนไหลออกแม่โขง คืออ.วารินชำราบ และเคลื่อนตัวไป อ.พิบูลมังสารหาร อ.สว่างวีระวงศ์ อ.โขงเจียม ในระหว่างสองสัปดาห์ พื้นที่เหล่านี้น้ำท่วมจะลดลงไปเรื่อยๆ มวลน้ำอยู่ก้อนท้ายสุด ไม่เกินสิ้นเดือน เพราะลักษณะกายภาพของแม่น้ำมูล ไหลออกสู่แม่โขง ที่จุดเดียวคือ อ.โขงเจียม ทั้งนี้ระดับน้ำท่วมพื้นที่หลายอำเภอ ริมแม่น้ำมูล ปีนี้น้อยกว่าปี2521อยู่ที่12.76เมตรจากท้องน้ำ ท่วมตลิ่ง4เมตร ส่วนปีนี้ ระดับสูงสุด10.97 เมตร ท่วมตลิ่งกว่า3เมตร แต่สูงมากว่าปี2545 อยู่ประมาณ20ซม.โดยปี45อยู่ที่10.77เมตร ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯจึงได้สั่งตั้งศูนย์บัญชาการแก้อุทกภัยล่มน้ำชี มูล (ส่วนหน้า)ที่จ.อุบลราชธานี ขึ้นมาเพราะต้องการทำให้สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายกลับสู่ปกติได้เร็วขึ้นจะลดความเสียหายลงได้ และชาวบ้านต่างทุกข์กันมาก จะต้องทำทุกวิถีทางให้ผ่านพ้นวิกฤติโดยเร็วที่สุด ดังนั้นหลังจากน้ำลดทุกหน่วยงานต้องพร้อมเข้าช่วยเหลือได้ทันที โดยใช้กลไกศูนย์บัญชาการส่วนหน้า ทั้งระหว่างนี้สามารถสั่งตรงทันทีนำเครื่องมือ เครื่องจักร ไปเพิ่มจุดใดและคอยติดตาม ลดขั้นตอนการสั่งการ เพื่อให้ทุกอย่างทำงานได้ไวขึ้น จะเป็นต้นแบบ อุบลราชธานีโมเดล รองรับพื้นที่ต่อไป โดยเฉพาะเดือนหน้าจะเป็นฤดูฝนของภาคใต้ จะตั้งรับที่จ.ประจวบคีรีขันธุ์ เพชรบุรี สงขลา”นายทวีศักดิ์ กล่าว