อธิบดีกรมชลฯ จัดทัพเคลียร์น้ำท่วม 8 จว.ภาคอีสาน แห้งทุกพื้นที่ภายในสิ้นเดือนนี้ เปิดศูนย์บัญชาการแก้อุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล ดันมวลน้ำกว่า 3พันล้านลบ.ม. ลงแม่โขง ยันอีก 5 วันชาวบ้านกลับเข้าบ้านเรือนได้ น้ำหายจากชุมชนและถนน จ่อใช้ ”อุบลราชธานีโมเดล” แก้น้ำท่วมใต้ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานเปิดศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) โดยมีนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสมชาย คณาประเสริฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีเปิด พร้อมกันนี้ นายทองเปลว พร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ ได้ร่วมปล่อยคาราวานเครื่องจักรกลของกรมชลประทาน สำหรับสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต่างๆ โดยได้ขึ้นขับรถบรรทุกเครื่องสูบน้ำ นำขบวนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ที่ต่างเหน็ดเหนื่อยมาตลอดในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนประสบอุทกภัย ต่อจากนั้นคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำที่สถานีวัดน้ำ M7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมือง และเดินทางไปยังสนามบิน กก.ตชด.22 เพื่อเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์สำรวจสถานการณ์น้ำจากมุมสูง พร้อมทั้งติดตามการทำงานของเครื่องผลักดันน้ำบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร และสะพานโขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี นอกจากนี้ ยังได้ประชุมคอนเฟอร์เรนท์กับสำนักชลประทาน ที่ 5-8 บริหารจัดการน้ำ 8 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย แนวลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ได้สั่งทุกพื้นที่ใช้ทุกวิถีทาง หน่วงน้ำ และผลักดันน้ำให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ซึ่งภายใน5-6วันนี้ คลี่คลายน้ำออกจากชุมชน ถนน โดยประชาชนจะสามารถกลับเข้าสู่บ้านเรือนได้ และท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ จะลดลงระดับปกติภายในสิ้นเดือนนี้ นายทองเปลว กล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องชาวอุบลราชธานี ที่กำลังประสบกับอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ จึงได้สั่งการให้กรมชลประทาน จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) ไว้สำหรับใช้เป็นศูนย์บัญชาการ และบูรณาการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนของชาวอุบลราชธานี ทั้งยังเร่งดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด “ขณะนี้ระดับน้ำ 10.93 เมตร ไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี ลดลง4เซนติเมตร จากระดับน้ำสูงสุด เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ระดับ 10.97 เมตร ซึ่งใช้เครื่องมือผลักดันน้ำ 160 เครื่อง ที่บริเวณแก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร และอ.โขงเจียม ที่แม่น้ำโขง ระดับน้ำยังต่ำกว่าแม่น้ำมูล 1.88เมตร พร้อมกันนี้ได้เพิ่มติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ทำให้อัตราการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง 500 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ทั้งนี้ระดับน้ำที่ อ.เมืองอุบลฯ มีสูงกว่าตลิ่ง 3.93 เมตร ฝั่งอ.วารินชำราบ จะยังทรงตัวอยู่ประมาณ 3-4วั น เพราะมีมวลน้ำไหลมาสมทบจากน้ำชีและน้ำมูล ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ มหาสารคาม อำนาจเจริญ มุกดาหาร ยโสธร และอุบลราชธานี พื้นที่ท่วมรวม 1,479,519 ไร่ให้กลับสู่สภาวะปกติทุกพื้นที่ภายในสิ้นเดือนนี้”อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว ปัจจุบันปริมาตรน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านเขตเทศบาลนครอุบลราชธานีทรงตัวที่ 5,260 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อปริมาตรน้ำสูงสุดของแม่น้ำมูลผ่านพ้นไปแล้ว อัตราการไหลและระดับน้ำจะทรงตัวเช่นนี้ 1 สัปดาห์ แล้วจะทยอยลดลง จนกระทั่งน้ำที่ท่วมขังกลับลงสู่ลำน้ำในอีก 1 สัปดาห์ถัดไป ส่วนน้ำที่ขังอยู่ในที่ลุ่มต่ำนั้นจะนำเครื่องสูบน้ำสูบออกให้หมดภายในสิ้นเดือนนี้เช่นกัน “มวลน้ำก้อนแรกเร่งระบาย ที่ประเมินไว้เกือบ 2,000 ล้านลบ.ม.ใช้เวลา 4-5 วัน น้ำทรงตัวหลังจากนั้นลดลงอย่างเร็ว เพราะระบายวันละ 500 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำท่วมครั้งนี้ ระดับสูงมากกว่าปี 2545 ประมาณ 20 ซม.นับว่าขั้นวิกฤติสุดในรอบ20ปี ซึ่งมีปริมาณน้ำค้างทุ่ง 3พันล้านลบ.ม. ในแนวแม่น้ำชี-มูล และลุ่มน้ำก่ำ แม่น้ำสงคราม 200 ล้านลบ.ม.ไหลลงโขงเช่นกัน ที่อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม โดยรมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งย้ำให้ผม และรองอธิบดี มาอยู่บัญชาการแก้อุทกภัยภาคอีสานจนกลับสู่ปกติ และใช้ อุบลราชธานีโมเดล เป็นต้นแบบแก้น้ำท่วม นำไปใช้กับพื้นที่ภาคใต้ เพราะกำลังเข้าสู่ฤดูฝนกลางเดือนต.ค.นี้”นายทองเปลว กล่าว สำหรับศูนย์บัญชาการ ส่วนหน้า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ช่วงชิงในช่วงสัปดาห์นี้ยังไม่มีฝน ผลักดันน้ำออกมากที่สุด ให้กรมชลฯ นำเครื่องผลักดันน้ำ ระดมมาไว้จำนวนมากเพื่อเสริมจุดอื่นๆ ที่สามารถติดตั้งได้โดยที่ชาวบ้านยินยอม เพราะเมื่อตั้งแล้วจะมีกระแสน้ำแรงขึ้นกระทบบ้านเรือนได้ ขณะนี้ลดมวลน้ำทำได้ผลดีสามารถเร่งดึงน้ำออกไป พร้อมกับลดบานประตูเขื่อนมหาสารคาม เขื่อนราษีไศล ในลุ่มน้ำชี และแม่น้ำมูล ลดบานเขื่อนวังยาง เขื่อนทดน้ำลำเซบาย เซบายบก รวมทั้งรมว.เกษตรฯให้ประเมินน้ำค้างทุ่ง ตรงไหนเก็บไว้ได้ใช้ในฤดูแล้ง โดยเฉพาะแหล่งน้ำสาธารณะ และภารกิจต่อไปสูบน้ำออกพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่จะพิจารณาส่วนไหนเก็บ และส่วนไหนทิ้งลงโขง นอกจากนี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ทำหนังสือถึงทุกกรม ให้ลงพื้นที่โดยใช้ศูนย์บัญชาการส่วนหน้า เป็นเซนเตอร์ ลงไปช่วยซ่อมบำรุง รถไถ เครื่องมืออุปกรณ์การเกษตร ให้เกษตรกร สำรวจผลผลิตที่เสียหาย เพื่อชดเชยได้อย่างรวดเร็ว ไม่ให้เกษตรกรต้องรอนาน เพราะน้ำท่วมที่ผ่านมาก็มีความทุกข์มากอยู่แล้ว ซึ่งศูนย์ส่วนหน้า จะบูรณาการสรรพกำลัง จัดทัพ จัดทีม ประสานสลับสับเปลี่ยนกำลังไม่ให้สะดุด โจทย์คือการระบายน้ำโดยเร็ว หลังจากนั้นฟื้นฟูอาชีพ พื้นที่การเกษตรและดูแลช่วยเหลือปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรมีรายได้โดยเร็วที่สุด