“ธุรกิจของเราไม่ใช่แค่การขายกาแฟเท่านั้น แต่เหนือกว่าสิ่งอื่นใดนั้นคือการแบ่งปันความหลงใหลที่สีหนุกมีต่อกาแฟลาว” นี่เป็นสิ่งที่เราสัมผัสได้เมื่อได้ไปเยือนสีหนุก พาวิเลียน (Sinouk The Coffee Pavilion) ที่อยู่ออกจากใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ไปไม่ไกล เส้นทางเดียวกับที่จะไปสถานทูตสหรัฐฯ ซึ่งหากใครข้ามแดนมาทางบกผ่านทางด่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว จ. หนองคาย ที่ต้องบอกว่าสะดวกสบายสุดๆ ก็จะผ่านเส้นทางนี้ก่อนจะเข้าเมืองหลวง คุณสีหนุกกำลังอธิบายความแตกต่างและสอนวิธีชิมกาแฟที่ถูกต้อง สีหนุก พาวิเลียน เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ และศูนย์การเรียนรู้ที่รวบรวมองค์ความรู้เรื่องกาแฟจากประสบการณ์ทั้งชีวิต รวมทั้งช่วงเวลากว่า 20 ปีเป็นเส้นทางธุรกิจกาแฟ ของชายชื่อ “สีหนุก สีสมบัติ” เจ้าของ และผู้ก่อตั้งกาแฟสีหนุก เพื่อหวังจะถ่ายทอดสิ่งที่เขาหลงใหลนี้ให้เป็นความรู้ที่จะพัฒนาวงการกาแฟของประเทศบ้านเกิด และส่งมอบสิ่งเหล่านี้สู่คนรุ่นต่อรุ่น เพื่อรักษาสิ่งที่เขารักต่อไป “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในบริเวณที่เป็นประเทศเยเมนในปัจจุบัน คนเลี้ยงแกะได้พบว่าแกะของเขามีอาการประหม่า อยู่ไม่สุขตลอดเวลาหลังจากได้กินผลเชอรี่ชนิดหนึ่งจากพุ่มไม้ในป่า เขาจึงเกิดความคิดที่จะนำเมล็ดนั้นไปตากแห้ง แล้วก็คั่ว ซึ่งนอกจากจะได้กลิ่นหอมทำให้รู้สึกผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้า และสบายใจแล้ว เมื่อนำเมล็ดนี้มาทำเครื่องดื่มเขาก็รู้สึกเช่นเดียวกับแพะของเขา” คุณสีหนุก เล่าให้ฟังถึงต้นกำเนิดกาแฟ อย่างไรก็ตาม กาแฟได้เข้ามาในประเทศลาวครั้งแรกในช่วงที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ราวปี 1920 และได้มีการค้นพบว่าพื้นที่ที่เรียกว่า “บ่อละเวน พลาตูเอ” (Bolavens Plateau) ทางตอนใต้ของประเทศแถวๆ แขวงจำปาศักดิ์ และสาละวันเป็นบริเวณที่เหมาะสมที่สุดในการปลูกกาแฟที่เจ้าอาณานิคมนำเข้ามา ต่อมาด้วยโรคพืช และการที่พื้นที่เพาะปลูกไม่ได้รับการดูแลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประกอบกับสงครามกลางเมืองก็เกือบทำให้กาแฟหายไปจากลาว จนเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาในปี 1975 ก็ได้มีการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกทำเป็นฟาร์มของทางการ และกาแฟได้ถูกนำกลับมาทำให้รู้จักอย่างแพร่หลายอีกครั้ง โดยกาแฟที่ปลูกกันมากก็จะเป็นกาแฟพันธุ์โรบัสตา เพราะทนต่อโรคพืชได้ดีกว่า ในช่วงปี 1992 – 1994 ผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรของฝรั่งเศศ หรือ CIRAD ได้เริ่มเอากาแฟอราบิกาเข้ามา ประกอบกับศูนย์วิจัยกาแฟปากซอง (Coffee Research Center of Paksong) ก็ได้มีการเผยแพร่การเพาะเมล็ดพันธุ์ชนิดอื่นๆ ไปทั่วตามหมู่บ้านต่างๆ ใน บ่อละเวน พลาตูเอ จากนั้นมาพื้นที่เพาะปลูกกาแฟส่วนใหญ่ในลาวก็กลายเป็นการปลูกกาแฟอราบิก้า จนเมื่อปี 2015 ปริมาณผลผลิตอราบิกาก็แซงโรบัสตาขึ้นมา และทำให้ลาวกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกกาแฟคุณภาพที่สำคัญประเทศหนึ่งในอาเซียน ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นใหม่นั้นก็จะมุ่งที่ปลูกเพียงกาแฟอราบิกาเพียงอย่างเดียว โดยตอนนี้เริ่มมีการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกขึ้นเพิ่มทางตอนเหนือของประเทศ ได้แก่ ที่พงสาลี และหลวงพระบาง เป็นสำคัญ ด้วยความที่กาแฟเป็นพืชประจำเขตร้อนชื้น ดังนั้นประเทศที่จะเพาะปลูกกาแฟได้ดีก็จะเป็นประเทศที่อยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร นอกเหนือในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เราแล้ว ก็จะมีปลูกมากในแอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้ ทุกวันนี้ กาแฟเป็นหนึ่งใน 5 สินค้าโภคภัณฑ์สำคัญของตลาดการค้าที่มีปลูกกันรวมแล้วกว่า 50 ประเทศทั่วโลก โดยในอาเซียนนั้น แต่ละประเทศก็จะปลูกกาแฟต่างๆ กันขึ้นอยู่กับพื้นที่ เช่น ในเมียนมาจะปลูกกาแฟอราบิกา ในไทย กัมพูชา และเวียดนามกาแฟที่ปลูกจะเป็นพันธุ์โรบัสตา ส่วนลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จะมีปลูกทั้ง 2 สายพันธุ์ ความแตกต่างของกาแฟพันธุ์โรบัสตา และอราบิกานั้นนอกเหนือจากลักษณะของใบ และเมล็ดที่ไม่เหมือนกันแล้ว ก็จะเป็นเรื่องของระดับความสูงของพื้นที่ปลูก โดยพันธุ์อราบิกาลักษณะใบจะมีสีเขียวอ่อนสว่าง เมล็ดลักษณะรูปทรงไข่ จะปลูกอยู่ที่ความสูงประมาณ 800 – 1200 เมตร ต้นสูงประมาณ 2 เมตร จะออกผลให้เก็บเกี่ยวใน 7 ปี ขณะที่พันธุ์โรบัสตานั้นจะปลูกกันที่ความสูง 400 เมตรขึ้นไป ต้นมีอายุ 30 ปี สูง 4 เมตร แต่ว่าหากยิ่งปลูกในพื้นที่ยิ่งสูงรสชาติก็จะอ่อนลง ทนต่อโรคพืชได้ดีกว่าก็จริง แต่ราคาก็ถูกกว่าพันธุ์อราบิกาด้วย มาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ของสีหนุกในครั้งนี้ยังเป็นโอกาสที่นอกจากเจ้าของผู้ก่อตั้งจะเป็นผู้พาเดินชม และอธิบายเรื่องราวต่างๆ ด้วยตนเองแล้ว ยังไม่ได้ลงมือทดลองชิมกาแฟสายพันธุ์ต่างๆ อย่างถูกวิธี รวมทั้งได้ชมวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมกาแฟในประเทศลาวอย่างถึงอกถึงใจ ผลิตภัณฑ์ของสีหนุกมีหลากหลาย และเป็นสินค้าระดับพรีเมียม สีหนุกไม่ใช่กาแฟดาดๆ แต่ติดตลาดระดับสูง เพราะวางตัวไว้เป็นกาแฟพรีเมียม ตัวเจ้าของและผู้ก่อตั้งเองก็ได้ไปเติบโตใช้ชีวิตอยู่ที่ฝรั่งเศสนานหลายปี ตอนนั้นเองก็ยังไม่คิดว่าจากการเป็นนายหน้าค้าข้าว นำข้าวจากบ้านเกิดไปขายในยุโรป จะได้กลับมาทำสิ่งที่ตัวเองรัก และสร้างความภูมิใจให้กับมาตุภูมิ ผลิตภัณฑ์ของสีหนุกไม่ได้มีเพียงแค่กาแฟเท่านั้น แต่ยังมีเครื่องดื่มประเภทชาอื่นๆ สำหรับคนที่ไม่ดื่มกาแฟ และในร้านที่ทุกสาขาตกแต่งด้วยบรรยากาศทันสมัยน่านั่งไม่แพ้ร้านกาแฟสัญชาติตะวันตกใดๆ มีเมนูขนมที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสล้วนๆ รอให้เลือกทานคู่กับเครื่องดื่มแก้วโปรด ทำให้วันนี้สีหนุกกลายเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่นักชิมต้องพิชิต นักเที่ยวต้องเช็คอิน และวันนี้แบรนด์สีหนุกก็ได้สร้างความภาคภูมิใจสร้างชื่อกาแฟลาวออกไปบุกถึงตลาดต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว