“เฉลิมชัย” แท็คทีมรัฐมนตรีเกษตร ผนึกกำลังสร้างรายได้มั่นคงภาคเกษตรทั้งระบบ ยืนยันโครงการประกันรายได้พืชหลัก เกษตรกรมีเงินเพิ่มขึ้นแน่นอน พร้อมชงงบเยียวยาหลังน้ำลด กว่า 4 พันล้านบาท ด้าน “ประภัตร” ฟุ้งมาตรการกระตุ้นอาชีพเฉพาะหน้า 120 วัน ปลูกถั่วเขียว ข้าวโพด เลี้ยงโค ช่วยเกษตรกรได้จริงมีตังใช้ 4-5 หมื่นบาทต่อครัวเรือน เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่อิมแพค เมืองทองธานี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายประภัตร โพธสุธน และน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ร่วมประชุมกับตัวแทนสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร ที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมยางพารา ปาล์มน้ำมัน โคนมและโคเนื้อ เกือบ 2,000 คน ชี้แจงนโยบายประกันรายได้และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล ผ่านกลไกสหกรณ์ขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้บรรลุเป้าหมาย ช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกรทั่วประเทศและทำความเข้าใจมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรหลังน้ำลดทันที ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่าติดภารกิจสำคัญ จึงไม่ได้มาร่วมประชุมในครั้งนี้ นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ปีนี้ภาคเกษตรประสบภัยธรรมชาติต่อเนื่องทั้งเผชิญภัยแล้งยาวนานจากปลายปีที่แล้วจนมาถึงกลางปีแล้งหนักไม่มีน้ำกินใช้ ทำการเกษตร มาถึงเดือนส.ค.กลับเปลี่ยนแปลงฉับพลันกลายเป็นอุทกภัยในพื้นที่เดียวกันเช่นภาคเหนือภาคอีสาน และเกิดแล้งท่วมกระจายไปทั่วประเทศ ส่งผลให้สินค้าเกษตรน้อยลง รายได้เกษตรกรน้อยลงไปด้วย รัฐบาลจึงเร่งมาดูมาตรการเยียวยาเพื่อให้มีรายได้ก่อนเข้าสู่การเพาะปลูกรอบใหม่ รวมทั้งระหว่างนี้ยังเกิดโรคระบาดใบด่างมันสำปะหลัง ได้ขอใช้งบกลาง270ล้านบาท จากนายกรัฐมนตรี เพื่อทำลายพื้นโรคระบาด5หมื่นไร่ให้โรคสงบลงโดยเร็วเป็นสิ่งสำคัญไม่แพร่ลามเข้าแหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลังแหล่งใหญ่ของประเทศ และโครงการประกันรายได้เกษตรกรสวนยางพารา ราคา60บาท ผ่านบอร์ดกยท.รอเข้าคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กยน.)ที่นายกฯเป็นประธาน หลังจากนั้นเริ่มต้นกระบวนการประกันรายได้วันที่ 1ต.ค. ระยะเวลาในสองเดือนตรวจสอบรายละเอียด ปริมาณยาง แต่ละรายบัญชีโอนเงินส่วนต่างเข้าบัญชีเกษตรกร เดือนธ.ค.ซึ่ง2เดือน โอน1รอบ สิ้นสุดโครงการระยะเวลา6เดือน “เดินหน้าขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคเกษตร ใช้การตลาดนำการผลิต ซึ่งกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ จะทำงานร่วมกันทุกมิติเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร โดยผ่านมาตรการประกันรายได้ ยืนยันว่าทำให้เกษตรกรในภาพรวมมีรายได้มากขึ้น พร้อมกับจับมือกับทุกหน่วยงาน ผลักดันสินค้าเกษตรไปสู่การแปรรูปเพิ่มมูลค้า เปิดตลาดใหม่ๆ ขยายตลาดรองรับสินค้า นำนวตกรรมใหม่ เข้ามาช่วยไม่ให้ล้นตลาด และขายได้ราคาดีขึ้น ซึ่งกำลังดำเนินการ โครงการห้องเย็นอัจฉริยะ เพื่อเก็บสินค้าเกษตร ไปขายนอกฤดูกาล ซึ่งทุกกระบวนการจะเป็นตัวช่วยผลักดันรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นแน่นอน ตนมั่นใจ ในทุกนโยบายไปให้ถึงเป้าหมายคือให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง ในเรื่องห้องเย็นอัจฉริยะ เป็นนวตกรรมเทคโนโลยี ของเกาหลี ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจ ถ้าเราจะส่งออก เปิดตลาดใหม่ๆต้องพัฒนาระบบพร้อมกับการตรวจสอบให้มีคุณภาพ ตามที่เขาต้องการ เปิดตลาดใหม่”รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมจ.อุบลราชธานี ได้สั่งให้นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อบัญชาการแก้ไขน้ำท่วม ที่จ.อุบลราชธานี ตนย้ำให้ทำทุกวิถีทางผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพราะคงไม่มีใครห้ามฝนได้ แต่สามารถจัดการและทำให้ดีที่สุดเพื่อประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด “ตั้งศูนย์เฉพาะกิจน้ำที่จ.อุบลราชธานี โดยอธิบดีกรมชล ไปเป็นผู้บัญชาการเองหาทางทำให้น้ำท่วมออกจากพื้นที่ได้สะดวก และสั่งทุกหน่วยงานสำรวจพื้นที่เสียหาย กำชับให้กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศสัตว์ หาพืชชนิดใหม่ พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด หรือเลี้ยงโค เป็นมาตรการเยียวยาให้เกษตรกรที่เสียหายหนักได้เพาะปลูก เลี้ยงวัว 120วัน ซึ่งมาตรการเฉพาะหน้า นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯจะเสนอมาให้ตนและเสนอครม.ขอกรอบงบประมาณไว้ 4พันล้านบาท นำมาชดเชยเงินกู้ธกส.ให้เกษตรกรที่จะเลี้ยงวัว ดอกเบี้ยร้อยละ3% งบประกันภัยให้กับวัว กรณีตาย ตัวละ100บาท และใช้งบบางส่วนแจกเมล็ดพันธุ์ฟรี ถั่วเขียว และข้าวโพด โดยขายได้ราคาประกัน เพื่อให้มีรายได้เฉพาะหน้าหลังน้ำลด ส่วนในพื้นที่แก้มลิงที่เก็บชะลอน้ำไว้ใช้ฤดูแล้ง ให้กรมประมง เร่งผลิตพันธุ์ปลา ให้มากที่สุด เพื่อไปปล่อยให้เกษตรกรจับขายมีรายได้ในช่วง4เดือนข้างหน้า”นายเฉลิมชัย กล่าว ทั้งนี้ ได้ให้ทุกหน่วยงานดำเนินการเชิงรุกในการรับมือภัยธรรมชาติ ซึ่งเมื่อ 3-4 อาทิตย์ที่ผ่านมา ทุกคนกลัวกันมากไม่มีน้ำกินใช้ กลับมาตอนนี้ น้ำท่วมมาก ดังนั้น ข้อสั่งการของท่านนายกรัฐมนตรี ต้องเร่งไปดูแลแก้ปัญหาประชาชนอันดับแรก ท่านนายกฯ ออกเฟสบุ๊ค เตือนชาวอุบล ให้ระวังเตรียมตัวเพื่อความปลอดภัย ไม่ว่าใครไม่อยากให้เกิดภัยธรรมชาติ แต่ลักษณะกายภาพพื้นที่อีสาน ราบลุ่มมีมวลน้ำมากขนาดนี้ การผลักดันน้ำต้องใช้เวลา เพราะต้องอิงกับระดับน้ำโขงด้วย จะทำทุกแนวทางลดความเสียหายซึ่งช่วงนี้เข้าสู่ปลายฤดูฝนของภาคเหนือ ภาคอีสาน แล้ว ด้าน นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำทุกครั้งว่า ต้องช่วยกันแก้ปัญหาปากท้องประชาชน เกษตรกร ไม่ใช่รอบัตร รอโอนเงินเข้าบัตร ยิ่งจนกว่าเดิม วันนี้กระทรวงเกษตรฯเราผนึกเป็นหนึ่ง มีรัฐมนตรี4คน มาจากประชาชน เราต้องเข้าใจปัญหาแก้ถูกจุด ดูแลความเป็นอยู่พี่น้องเกษตรกรกว่า40ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นคนยากจน ทำงานทำกินเหลือไม่คุ้มทุน ปีนี้เหมือนผีซ้ำด้ามพลอย ภัยแล้งมาน้ำท่วม หมดเนื้อหมดตัว ที่ผ่านมาน้ำไม่พอแย่งน้ำกัน จ.สุพรรณ แย่งน้ำมากที่สุด เขื่อนภูมิพลไม่มีน้ำ “เกษตรกรเราลำบากมาโดยตลอดทำแล้วขาดทุน เดือนสิงหา พายุวิภา เสียหายไป16 จังหวัด 2.5 ล้านไร่ คราวนี้หนักกว่าเดิม 29 ส.ค. พายุโพดุล วันนี้น้ำยังไม่ลด หมดตัวอีกโดนไป30กว่าจังหวัด กำลังรอการสำรวจ ขณะนี้มวลน้ำจากจ.ร้อยเอ็ด กำลังไปจ.อุบลราชธานี สิ้นเดือนนี้ ผมจะลงไปเยี่ยมให้กำลังใจ รับฟังปัญหาเกษตรกร จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร ซึ่งท่านเฉลิมชัย เรียกผมเฮีย ให้มาปรึกษากัน4รัฐมนตรี ทำให้เกษตรกรมีรายได้ ภายใน120วันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่รอกดเงิน 300-500 ไม่พอกิน ขอชมเชย ทุกอธิบดี ช่วยกันหามาตรการช่วยเกษตรกรหลังน้ำลด กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สหกรณ์ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ต้องไม่โกง จริงใจกับสมาชิก ทุกครั้งที่เคยได้รับเรื่องร้องเรียน มาจากกรรมการสหกรณ์มีปัญหาทั้งสิ้น อีกทั้งปริมาณน้ำดีขึ้นทั้งประเทศ มีน้ำเพิ่มขึ้น 2หมื่นล้านคิว นายกฯสั่ง บอกพี่ประภัตร ไปช่วยคิดกระตุ้นให้ผมที ผมก็ถามท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯว่าอะไรที่ช่วยเกษตรกร แจกฟรีได้ไหม ท่านสมคิด บอกทำได้ “นายประภัตร กล่าว ทั้งนี้ มีเอกชนต่างประเทศมาเจรจาซื้อถั่วเขียว ประกันราคา 30 บาท ต่อกก.ปริมาณ 6 หมื่นตัน ตนจะมีโครงการให้เกษตรกรปลูกถั่วเขียว 5 หมื่นครัวเรือน ให้เมล็ดพันธุ์ฟรี 5 กก.ต่อครัวเรือน ตอนแรกตนไปกรมวิชาการเกษตร ว่ามีเมล็ดพันธุ์ไหม ได้คำตอบน่าเกลียดมากบอกไม่มีเมล็ดพันธุ์ วันต่อมาบอกมี 50 ตัน จึงต้องให้ธนาคารเพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นตัวกลางซื้อเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวมาแจกเกษตรกร รวมทั้งเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด เอกชนเสนอซื้อราคาประกัน 8 บาทต่อกก.ข้าวโพด รับซื้อหมด1ล้านตัน จะปลูกประมาณ1ล้านไร่ 1แสนครัวเรือน ช่วยให้เมล็ดพันธุ์ไปปลูกไร่ละ3.5กก.รายละ10ไร่ เกษตรกรจะมีเงินเหลือ5-6หมื่นบาท นี่ความฝันของผมจะเป็นจริง สำหรับปัญหากรมข้าว ภัยแล้งที่ผ่านมา ไม่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิให้เกษตรกร ซึ่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้เพียง8หมื่นตัน และเมล็ดพันธุ์คุณภาพไม่เคยเพียงพอความต้องการ นาข้าวทั่วประเทศ 70 ล้านไร่ หากไร่ละ 20 กก.ใช้กว่า1ล้านตัน จากนี้ต้องผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีให้ได้ปีละ 2 แสนตัน หากไม่ได้จะเปลี่ยนอธิบดีกรมการข้าว เพราะตนจะต้องแก้ปัญหาพันธุ์ข้าวปลอมปน เกษตรกรโดนหลอกให้ซื้อ กว่าจะรู้ก็ตอนข้าวเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ ซึ่งจะให้เกษตรกร ร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 5 หมื่นครัวเรือน กับทุกศูนย์ข้าวชุมชน นอกจากนี้ผลักดันโครงการโคสร้างชาติ 1 ล้านตัว เลี้ยงลูกโคน้ำหนัก 250 กก.อายุไม่เกิน 1.5 ปี ให้โตได้วันละ 1.5 กก. เลี้ยง 120 วัน ได้น้ำหนัก 450 กก.ครัวเรือนละ 5 ตัว 2 แสนครัวเรือน ให้กู้ค่าวัวตัวละ 2.45 หมื่นบาท เกษตรกร กู้เงิน ธ.ก.ส. ส่วนหนี้เก่าหยุดไว้ก่อนพร้อมตั้งศูนย์ 238 ศูนย์ทำอาหารสัตว์ รัฐช่วยค่าอาหาร 5 พันบาทต่อครัวเรือน “กำไรวัวตัวละ 3.2 หมื่นบาท ถ้าตายได้จากบริษัทประกัน ดอกเบี้ย ธ.ก.ส. 4% ยื่นขอรัฐบาล ช่วย 3% เกษตรกร 1% โดยจะส่งตลาดประเทศจีน ทุกวันนี้ไม่มีเนื้อหมูกิน ฆ่าไปสองล้านตัว จากโรคระบาดอหิวาต์ เนื้อไม่มี เอกชนจีนบินมาหาผม ว่าตั้งโรงงานเชือดแปรสภาพเนื้อโค กำลังผลิตวันละ 1.3 พันตัว โดยจะงบ 4พันล้านบาท หลังน้ำลดแล้วดำเนินการทันที จะใช้โคในประเทศ ขณะนี้สำรวจมีลูก 3-5 หมื่นตัว จะเป็นเฟสแรกใช้หลักตลาดนำการผลิต แตกต่างจากโครงการในอดีตเลี้ยงแม่โคเอาลูก มีความเสี่ยง อาจไม่ท้อง โครงการนี้เลี้ยงลูก และเกษตรกรสมัครใจ แต่ละจังหวัด รวบรวมส่งรายชื่อเกษตรกร เมื่อผ่านครม.ทุกจังหวัดไปตั้งกลุ่มๆ ละ 50-100 ราย โรงเชือดจะเปิดดำเนินการเดือนพ.ย. นี้ ในวันที่ 15-17 ก.ย.นี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เดินทางไปจีน คุยเรื่องส่งออกไก่ รังนก และโคมีชีวิต ตอนนี้การส่งออกยังต้องผ่านประเทศลาว จะหารือเพื่อส่งไปจีนโดยตรง”นายประภัตร กล่าว