วันที่ 13 ก.ย. ที่รัฐสภา เกียกกาย นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำรายชื่อส.ส. จำนวน 50 คนของพรรคพลังประชารัฐ ยื่นญัตติด่วนต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษา เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกระบวนการคิดเห็นของประชาชน ที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทั้งนี้ในเอกสารขอตั้งกมธ.วิสามัญฯ ระบุเหตุผลว่า สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี2560 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.60 เป็นต้นมา ทั้งนี้ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้มีประชาชนออกเสียงลงประชามติรับรองเห็นชอบ 16.8 ล้านเสียง และมีผู้ไม่เห็นชอบ 10.5 ล้านเสียง นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ที่ผ่านการลงประชามติ หลังจากนั้นได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผลการเลือกตั้งครั้งแรก ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีการรอผลการประกาศอย่างเป็นทางการ เป็นระยะเวลานานพอสมควร และในการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ก็เป็นประเด็นที่นำไปสู่ความเห็นที่แตกต่างกันได้มาก รวมถึงประเด็นอื่นๆ นายวิเชียร กล่าวอีกว่า เอกสารขอตั้งกมธ.วิสามัญฯ ระบุต่อว่า เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ได้มีการแถลงนโยบายของ คณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยในส่วนของนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง ซึ่งในเรื่องที่ 12 กำหนดว่า สนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเห็นสมควรให้มีการศึกษาเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกระบวนการรับฟัง ความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งกรณีดังกล่าว เป็นเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน หรือมีความจำเป็นเร่งด่วน ในอันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศ ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ หรือทางใดๆ ก็ตาม หรือในอันที่จะขจัดเหตุใดๆ ที่กระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ดังนั้นขอเสนอญัตติดังกล่าว เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งกมธ.วิสามัญฯ ต่อไป นายวิเชียร กล่าวว่า สำหรับการเสนอญัตติในครั้งนี้เป็นการดำเนินการในนามของส.ส.พรรคพลังประชารัฐ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ส่วนกรอบ ระยะ เวลาในการทำงานของกมธ.วิสามัญฯ คงต้องไปหารือกันต่อไปว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ แต่ยืนยันว่าจะเน้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างถึงที่สุด