“สมคิด”นัดประชุมใหญ่ภาคประชาชนทั่วประเทศเพื่อหนุนตั้งธนาคารชุมชน 21 ก.ย.นี้ เริ่มต้น 2 หมื่นแห่ง หวังใช้เป็นแหล่งทุนชาวบ้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากรับเศรษฐกิจโลกผันผวน คาดเสนอ ครม.ภายในเดือน ก.ย.นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ประชุมนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อหวังใช้เวลาในช่วงเศรษฐกิจโลกมีปัญหากลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากโดยผ่านการปฏิรูปความแข็งแข็งของโครงสร้างชุมชนและความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ ทั้งในภาครัฐ เอกชน และประชาชนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ชุมชน ตลาดประชารัฐ การท่องเที่ยวขุมชนเข้มแข็ง ทั้งนี้ได้กำหนดให้วันที่ 21 ก.ย. 62 นัดประชุมใหญ่ทุกเครือข่ายทั่วประเทศที่เมืองทองธานี โดยทั้ง ธ.ก.ส.,ออมสิน,กองทุนหมู่บ้าน ,สภาเกษตรกรทั่วประเทศนำเสนอมาตรการช่วยเหลือชุมชน กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ส่งเสริมด้านเกษตรแปรรูป ธนาคารรัฐมาช่วยเหลือทั้งความรู้และการเติมทุนเพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและพัฒนาครอบคลุมทุกด้าน ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ทุกหน่วยงานจะร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันยกระดับฐานรากทั้งเงินทุน เติมความรู้เข้ามาพัฒนาหวังใช้ด้านการตลาดเป็นตัวนำ การส่งเสริมการผลิตแปรรูปรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลเช่น ธ.ก.ส.จะศึกษาแนวทางดูแลเกษตรกรผ่านการสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาไปสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ส่วนธนาคารออมสินจะดูแลพ่อค้า แม่ค้า แฟรนไชส์ เพื่อยกระดับกิจการผ่านธนาคารประชาชน ซึ่งจะมีเงื่อนไขผ่อนปรนเพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและมีความรู้พัฒนากิจการ ขณะที่ สสว.และเอสเอ็มอีแบงก์ ช่วยเหลือเอสเอ็มอีและด้านการท่องเที่ยวชุมชน ส่วนกรมธนารักษ์จะจัดเตรียมพื้นที่เหมาะสมเพื่อจัดตลาดนัดประชารัฐซึ่งใช้เป็นช่องทางตลาด และเมื่อทุกหน่วยงานศึกษาแนวทางช่วยเหลือได้แล้วจะนำมาสรุปร่วมกันเสนอต่อเวทีใหญ่ให้รับทราบ และนำเสนอมาตรการช่วยเหลือให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาภายในเดือน ก.ย. 62 นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านทั้งหมด 7.8 หมื่นแห่ง แต่จะมี 2 หมื่นแห่งที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในเกรดเอ เนื่องจากเป็นกองทุนหมู่บ้านที่มีผลดำเนินการดีเด่น เหมาะต่อการส่งเสริมและผลักดันให้เป็นธนาคารชุมชนนำร่อง เนื่องจากขณะนี้กฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ธนาคารชุมชน เตรียมบังคับใช้เพื่อให้ธนาคารชุมชนมีสภาพเป็นนิติบุคคล เป็นช่องทางในการดูแลสมาชิกในชุมชนอย่างใกล้ชิด โดยมีแบงก์รัฐคอยเป็นพี่เลี้ยงเติมทุนและความรู้บริหารจัดการให้เป็นระบบ