เมื่อเวลา 09.00 น.ของวันที่ 12 ก.ย.62 ที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรท่ามะกา จ.กาญจนบุรี นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พร้อมทีมกฎหมาย ได้เดินทางนำแรงงานชาวเมียนมารวมทั้งคนไทย จำนวน 354 คนที่ทำงานอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งโรงงานผลิตผลไม้และพืชผักแปรรูปเพื่อส่งออกรายใหญ่ ตั้งอยู่ใน ต.แสนตอ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.ท่ามะกาฯ ภายหลังบริษัทดังกล่าว ไม่จ่ายค่าแรงให้กับคนงานเหล่านี้ ซึ่งมีทั้งคนไทย และคนงานสัญชาติเมียนมา โดยอ้างว่าขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลัดผ่อนการจ่ายค่าแรงคนงานมาโดยตลอดกว่า 3 เดือนแล้ว สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร รวมทั้งคนงานเป็นจำนวนมากมีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท โดยในการรวมตัวของแรงงานต่างด้าวครั้งนี้ พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ ผบช.ภ.7 และนายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้สั่งการให้คณะนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และ หน.ส่วนราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย พ.ต.อ.สุภาพ วัยนิพิฐพงษ์ ผกก.สส.1 บก.สส.ภ.7 พ.ต.อ.ชวลิต สุขสุวรรณ์ รอง ผบก.ภ.จว.กาญจนบุรี พ.ต.อ.ภัทรชัย กอสนาน ผกก.สส.ภ.จว.กาญจนบุรี พ.ต.อ.สำราญ กลั่นมา ผกก.ตม.จ.กาญจนบุรี บก.ตม.3 พ.ต.อ.ณัฐวุฒิ กันตะยศ ผกก.สภ.ท่ามะกา พ.ต.ท.เวช พิสูตร์ รอง ผกก.สส.ภ.จว.กาญจนบุรี พ.ต.ท.กาจภณ ปฐมัง รอง ผกก.สส.ภ.จว.ฯ พ.ต.ต.รณกฤต ชาญวิชัย สว.ตม.จ.กาญจนบุรี ร.ต.อ.พิทยา ศรีมรกตมงคล รอง สว.ตม.และชุดสืบสวนปราบปราม ตม. พร้อมด้วยนายสมเจตน์ จงศุภวิศาลกิจ รอง ผวจ.กาญจนบุรี พอ.บุญยิ่ง คงเกตุ หน.ฝ่ายข่าว กอ.รมน.กาญจนบุรี ว่าที่ รต.มนู บุญเส็ง นักวิชาการชำนาญการ จัดหางานจังหวัดกาญจนบุรี และ หน.ส่วนราชการอำเภอท่ามะกา รวมทั้ง หน.ส่วนในสังกัดกระทรวงแรงงานของจังหวัดกาญจนบุรี ทั้งหมด ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ให้เดินทางมาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หากพบว่ามีความผิดตามที่ได้รับการร้องเรียน ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น และจะให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ทางด้านฝ่ายตำรวจ พ.ต.อ.ชวลิต สุขสุวรรณ์ รอง ผบก.ภ.จว.กาญจนบุรีได้สั่งการให้ ผกก.สอบสวน ภ.จว.กาญจนบุรี ร่วมกับพนักงานสอบสวน สภ.ท่ามะกา รวม 10 นายทำการสอบปากคำบรรดาแรงงานสัญชาติเมียนมา โดยแยกสอบสวนปากคำเป็นรายบุคคล เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับนายจ้างเจ้าของโรงงานดังกล่าว เบื้องต้นทางอำเภอท่ามะกา ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ตม.และเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดฯ แรงงานจังหวัดฯ ทำการคัดแยกบรรดาแรงงานจำนวน 345 คนไปทำการตรวจสอบหลักฐานบัตรประจำตัวที่ลงทะเบียนไว้ รวมทั้งหนังสือเดินทาง และใบอนุญาตทำงาน เบื้องต้นทางสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจะเร่งดำเนินการจ่ายเงินชดเชยค่าแรงตามกฎหมายให้ 60 เปอร์เซ็น จากเงินค่าแรงที่นายจ้างค้างจ่าย เพื่อเยียวยาเบื้องต้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ด้านนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วนเหลือเหยื่ออาชญากรรม กล่าวว่า"วันนี้เรามุ่งเน้นแก้ไขปัญหาในเรื่องของค่าแรงที่นายจ้างที่ไม่จ่ายให้กับลูกจ้าง ขณะเดียวกันก็จะต้องดำเนินคดีกับนายจ้างในเรื่องของการค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2562 เนื่องจากจากการตรวจสอบคนงานทั้งคนไทยและเมียนมา เบื้องต้นพบว่า นายจ้างระบุว่า หากไม่ยอมทำงานต่อก็จะไม่ยอมจ่ายค่าจ้างที่เหลือ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์แรงงานบังคับ พร้อมกันนี้จะต้องมีการตรวจสอบการสวมสิทธิแรงงานต่างด้าวด้วย หากพบก็จะต้องมีการดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม ตนก็ขอย้ำว่า แรงงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจะต้องได้รับค่าจ้างที่ค้างจ่ายทั้งหมด แต่หากนายจ้างยังไม่ยอมจ่าย ตนจะลงพื้นที่มาดูแรงงานอีกครั้ง เพื่อเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายกับนายจ้างรายนี้ต่อไป" ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม กล่าวต่อว่า"สำหรับบริษัทดังกล่าว มีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท และบริษัทในเครือหลายบริษัท จากปัญหาความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสของแรงงานจำนวนมาก ตนจึงเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เป็นคนยากจน ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการถูกเบี้ยวค่าจ้าง เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของบริษัท ที่ค้างค่าแรงมา 3 เดือน ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้าน ทั้งนี้แรงงานดังกล่าวได้พยายามไปร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ดำเนินคดีกับเจ้าของบริษัท ในความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพื่อบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าแรง แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผลมาหลายครั้ง รับปากว่าวันนั้น เดือนนั้นจะทยอยจ่ายค่าแรงให้ แต่ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม ไม่จ่ายตามที่พูดจาตกลงกับคนงานไว้" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด ผลการตรวจสอบและเจรจาในที่ประชุมพบว่า แรงงานคนไทย จำนวน 80 คน แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จำนวน 345 คน ตรวจสอบใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวทั้ง 345 คน พบว่ามีใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวมีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายทุกคน ส่วนในการคัดแยกผู้เสียหายที่อยู่ในข่ายการค้ามนุษย์ เบื้องต้น 7 คน ผลการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างนายจ้างและแรงงานคนไทย และแรงงานต่างด้าวทั้ง 345 คน ปรากฎว่า นายจ้าง ยินยอมที่จะชำระค่าจ้างที่ค้างชำระ โดยจะแบ่งเป็นงวดผ่อนชำระ จำนวน 5 งวด และลูกจ้างยินยอมที่จะรับชำระเงินค่าจ้างเป็นรายงวด