อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เชิญชวน Dr.S.K.Chaudhari ร่วมงาน “วันดินโลก” ของไทย แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์บริหารจัดการทรัพยากรดินยั่งยืน นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย สมัยที่ 14 (COP14) ณ the India Expo Center and Mart กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ได้เข้าพบหารือกับ Dr. S.K. Chaudhari, Assistant Director General (Soil and Water Management) ณ Indian Council of Agricultural Research นางสาวเบญจพร กล่าวว่า ประเด็นหารือในครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับแนวทางการจัดการทรัพยากรดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ และโครงสร้างการดำเนินงานในระดับส่วนกลางและภูมิภาคของทั้งสองประเทศ การดำเนินงานศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) ซึ่ง Dr. S.K. Chaudhari มีบทบาทสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ CESRA ของประเทศไทย ภายใต้กรอบความร่วมมือสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินแห่งเอเชีย (Asian Soil Partnership: ASP) และได้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาเครือข่ายของศูนย์ CESRA ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่ง Indian Council of Agricultural Research มีสถาบันในสังกัดที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจดิน การวางแผนการใช้ที่ดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การวิจัยดินเค็ม และการเผยแพร่มาตรการการจัดการทรัพยากรดิน และการใช้ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสมกับดินและชนิดพืชที่เกษตรกรผลิต โดยมีประสบการณ์ในการในการถ่ายทอดข้อมูลการจัดการดินและปุ๋ยสู่เกษตรกรภายใต้โครงการ Soil Health Card ซึ่งมีความสอดคล้องกับโครงการบัตรดินดี (ID Din Dee) ของกรมพัฒนาที่ดิน โดยขอเชิญให้ Dr. S.K. Chaudhari ให้เกียรติมาร่วมงานวันดินโลกที่ประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2562 และนำเสนอแนวทางการดำเนินงานโครงการ Soil Health Card ดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้และหลักการในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ได้มีโอกาสเข้าศึกษาดูงาน ณ ศูนย์วิจัย Center for Protected Cultivation Technology ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชแก่เกษตรกร การให้บริการเพาะกล้าต้นพืชเพื่อให้เกษตรกรนำไปปลูกในช่วงที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหายที่เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิในช่วงกลางวันและกลางคืนของประเทศอินเดีย และการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเป็นศูนย์วิจัยที่มีศักยภาพในการฝีกอบรม และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ โดยมีเกษตรกรมาฝึกอบรมที่ศูนย์วิจัยแห่งนี้ประมาณ 2 ล้านคนต่อปี