นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ระบุว่า....
-มีผู้ถามว่า ผมมีความเห็นอย่างไร ที่มีผู้วาดภาพพระพุทธรูปในลักษณะแปลกๆ ผมออกตัวว่า ผมไม่มีความรู้ลึกซึ้งในทางศาสนาหรอก ผมเพียงได้ปฏิบัติศาสนกิจบ้าง ช่วยเหลือกิจการคณะสงฆ์อยู่บ้าง จนได้รับพระราชทานรางวัล"เสาเสมาธรรมจักร" และในอดีตผมเคยเป็นรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกิจการของศาสนามาระยะหนึ่ง แม้ไม่ใช่กิจการของพุทธศาสนาแต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ก็พอจะใกล้ชิดพุทธศาสนาอยู่บ้าง ที่ปูพื้นอย่างนี้ก็เพียงจะบอกว่า ผมก็น่าจะพอแสดงความเห็นเรื่องนี้ได้บ้าง ผิดถูกอย่างไรก็อย่าว่ากันเลย เพราะสติปัญญาผมมีแค่นี้แหละ ท่านที่ไม่เห็นด้วยก็อ่านผ่านๆไป ถือว่า เป็นขยะทางความคิดในโลกโซเชี่ยลก็แล้วกัน -ผมเริ่มต้นเล่าให้ผู้ที่ถามฟังว่า มนุษย์เป็นสัตว์มีชีวิตชนิดเดียวที่เมื่อเสียชีวิตแล้วจะไม่ถูกทิ้งร่างให้นอนอยู่ ณ สถานที่ที่สิ้นลมหายใจ แต่ผู้ที่อยู่ข้างหลังไม่ว่าจะเป็นญาติหรือคนในชุมชนนั้นจะนำศพไปจัดการตามความเชื่อ จากนั้นจึงจะนำไปเผาหรือฝัง เป็นเช่นนี้มาหลายพันปีหรือหมื่นปีก็ว่าได้นับแต่มีมนุษย์คนแรกๆถือกำเนิดมาในโลก เรื่องนี้ เราสามารถสืบค้นได้จากโครงกระดูกของมนุษย์ในประวัติศาสตร์ จึงยืนยันได้ว่าศพของมนุษย์ถูกจัดการหลังเสียชีวิตโดยไม่ถูกทิ้งร่างไว้ ณ สถานที่ที่สิ้นลมหายใจ การจัดการกับศพของมนุษย์จึงถูกกำกับด้วย"ความเชื่อ"ซึ่งต่อมาพัฒนา เป็น"ศาสนา"เป็นการจัดการศพที่เชื่อมโยงกับชีวิตหรือโลกหลังความตายของมนุษย์ ความเชื่อที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์จึงเป็นความเชื่อที่เกี่ยวกับศาสนา แต่ก็มีเหมือนกันที่มนุษย์บางคนไม่เชื่อในศาสนาใดๆแต่นั่นถือว่าเป็นข้อยกเว้นของคนที่ไม่มีศาสนาก็แล้วกัน เมื่อความเชื่อที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์เป็นความเชื่อในศาสนา แม้จะมีคำกล่าวพื้นๆที่เราได้ยินอยู่เสมอว่า ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีก็ตาม แต่ความขัดแย้งระหว่างศาสนาของมนุษย์ก็ก่อให้เกิดสงครามได้เสมอ ที่เรียกว่า"สงครามศาสนา" และเป็นสงครามใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกทุกครั้งเสียด้วย ยกเว้น ศาสนาพุทธที่ไม่เคยก่อสงครามศาสนา (ทำท่าจะยาว ลงจากธรรมมาสน์ก่อน ค่อยว่าต่อวันหลัง)
-ศาสนาหลักของโลกส่วนใหญ่ห้ามมิให้มีรูปสัญลักษณ์ของศาสดาหรือห้ามมีรูปเคารพทั้งสิ้นแหละครับ แม้ศาสนาพุทธ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว “ธรรมและวินัยที่เราตถาคตแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่พวกเธอ จักเป็นศาสดาของพวกเธอเมื่อเราล่วงลับไปแล้ว” เหตุที่ศาสนาทั้งหลายไม่ให้มีรูปของศาสดาหรือรูปเคารพก็มีเหตุผลอธิบาย แต่ไม่กล่าวถึงก็แล้วกัน สามารถหาอ่านได้ -ต่อมาได้มีการคิดสร้างพระพุทธรูปขึ้นเพื่อกราบไหว้แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็เป็นเรื่องที่คนยุคหลังคิดขึ้นมาเอง ในเมืองไทย ก็สร้างพระพุทธรูปปางต่างๆขึ้นมาแทนพระพุทธเจ้าจนนับปางไม่ถ้วน -เมื่อพระพุทธรูปกลายเป็น"สัญลักษณ์" ของพระพุทธเจ้า พระพุทธรูปจึงเป็นเรื่องใหญ่ เห็นพระพุทธรูปแล้วก็ไม่ต้องอธิบายว่าชาวพุทธต้องปฏิบัติต่อสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์อย่างไร เรื่องสัญลักษณ์นี่สำคัญนะครับ ยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งสมมุติว่า มีผ้าสีแดงหล่นลงที่พื้นแล้วมีคนไปเหยียบ ไปกระทืบ เราเห็นแล้วก็รู้สึกตลกว่าคนอะไรกระทืบผ้าอยู่ได้ มันประสาทหรือเปล่า แต่ ...แต่...ถ้าผ้าสีแดงนั้นเย็บติดกับผ้าสีขาว และ สีน้ำเงิน แล้วมีคนไปกระทืบผ้าสีแดง-ขาว-น้ำเงิน ที่เย็บติดกัน เมื่อนั้นแหละคนที่กระทืบผ้า อาจจะถูกกระทืบเสียเอง เป็นเพราะอะไร ก็ลองคิดต่อกันเองล่ะครับ คนไทยส่วนใหญ่ก็ยอมตายเพื่อปกป้องสัญลักษณ์ผ้า 3 สีที่เย็บติดกันนะครับ นี่คือ ความสำคัญของ"สัญลักษณ์" -กล่าวถึงความเชื่อของมนุษย์ ความเชื่อของมนุษย์นั้นก็มีหลายระดับ เช่น ความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงได้ อันนี้ไม่มีผลอะไรเท่าไหร่ วันนี้เชื่อพรุ่งนี้ไม่เชื่อก็ได้หากมีเหตุผลมาอธิบาย แต่มีความเชื่ออีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่าความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มนุษย์จะยอมตายเพื่อปกป้องความเชื่อนั้น เราเรียกความเชื่อนั้นว่าเป็น"ความเชื่อสูงสุด" ศาสนาถือเป็นความเชื่อสูงสุดของมนุษย์ครับ ความเชื่อสูงสุดนั้นเขาไม่ให้เถียงกัน ไม่ให้เหยียดหยามกัน เราเหยียดหยามความเชื่อสูงสุดกันเมื่อไหร่ ก็เป็นอันทะเลาะกัน ร้ายแรงกว่านั้นก็อาจก่อให้เกิดสงครามเพื่อปกป้องความเชื่อนั้นได้ ดังที่กล่าวมาแล้ว(หมดเวลาอีกแล้ว ลงจากธรรมมาสน์ก่อนล่ะครับ?)
-เห็นที่จะต้องจบเรื่องพระพุทธ รูปอุลตร้าแมนไว้เพียงตอนนี้ล่ะครับ เมื่อความเชื่อในศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็น"ความเชื่อสูงสุด" และพระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า การปฏิบัติต่อรูปสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ควรปฏิบัติอย่างไรเป็นเรื่องที่ชาวพุทธ"ควรรู้" จริงอยู่ในสังคมประชาธิปไตยเขาให้เราแสดงออกถึงความไม่ชื่นชมในสิ่งที่คนอื่นชื่นชมได้ เช่น ท่านชื่นชมนักร้องคนหนึ่ง แต่ผมไม่ชื่นชม ผมก็มีสิทธิแสดงออกถึงการไม่ชื่นชมได้ แต่หากเป็นความศรัทธาหรือความเชื่อสูงสุดแล้ว ในสังคมอารยะเขาไม่ทำลายความศรัทธาหรือความเชื่อของบุคคลอื่นเพราะมันจะเป็นความร้าวฉาน ความขัดแย้ง และก่อให้เกิดสงครามได้ ดังกล่าวมาในตอนต้น -การอ้างว่าเป็นการชื่นชมศิลปะนั้น ก็อ้างได้ แต่เรื่องนี้มันเกินความชื่นชมในศิลปะเพราะมันกระทบต่อ"ความเชื่อสูงสุด"ของบุคคลอื่น จริงๆแล้วศิลปะก็มีหลายระดับ เป็นศิลปะระดับมวลชน และศิลปะชั้นสูง การชื่นชอบศิลปะต่างกันนั้นไม่แปลกครับ ท่านที่ฟังเพลงคลาสสิคอาจจะชื่นชอบ การบรรเลงไวโอลิน เพลง Four Seasons ของ Vivaldi แต่สำหรับผมแล้ว ชื่นชอบเสียงปี่ของมโนราห์มากกว่า ฟังแล้วซาบซึ้ง ขนลุก เพราะงั้นอย่าเอาเรื่องศิลปะมาอ้าง เพราะเรื่องนี้มันเป็นความเชื่อความศรัทธาในความเชื่อสูงสุด มันไม่ใช่ความชื่นชอบในศิลปะที่แตกต่างกัน มันไม่เหมือนชอบเพลงปี่มโนราห์ หรือไม่ชอบ Four Seasons ของVivaldi -ผมเป็นชาวพุทธที่ชื่นชอบพระพุทธรูปของ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต มากกว่า พระพุทธรูป อุลตร้าแมน ครับ และหวังว่า ในชีวิตผม คงได้ยินบทสวดมาติกาบังสุกุล ในทำนองเดิม คงไม่ได้ยินบทสวดในจังหวะแร็พ นะครับ หากผมตายไปแล้วสวดจังหวะแร็พเมื่อไหร่ ผมต้องเปิดฝาโลงมานิมนต์พระกลับวัดล่ะ (ลงจากธรรมมาสน์ เพียงนี้ล่ะครับ)