วิกฤติขยะทะเลตรัง สำรวจพบปลาทูกินขยะไมโครพลาสติกเต็มกระเพาะ หลัง ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล จ.ตรัง เผยผลวิจัยพบขยะไมโครพลาสติกในปลาทู 78ชิ้นต่อ1ตัว หวั่นกระทบห่วงโซ่อาหารทั้งระบบ รวมถึงแกงไตปลาอาหารยอดฮิตภาคใต้ ที่ใช้กระเพาะปลาผ่านการหมักดอง อาจจะมีส่วนผสมขยะไมโครพลาสติกด้วย เผยเดินหน้างานวิจัยในหอยตะเภา หอยชักตีน และหอยผีเสื้อ เตือนให้ทุกคนตระหนักว่า ควรจัดการขยะอย่างไรให้ถูกวิธี วันที่ 11 กันยายน 2562 ที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ต.ไม้ฝาด อ.กันตัง จ.ตรัง ว่าหลังจากกรณีที่มาเรียม พะยูนน้อย ได้ตายจากสาเหตุกินถุงพลาสติกเข้าไป กระทั่งต่อมาทางสื่อโซเชียลได้มีการแชร์ข้อมูลจากเพจศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง เกี่ยวกับการพบไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทูไทย ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง เฉลี่ยตัวละ 78 ชิ้น ประกอบไปด้วยพลาสติกลักษณะต่างๆ เช่น เส้นใย ชิ้น แท่ง และกลิตเตอร์ ซึ่งลักษณะของไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดคือ ชิ้นสีดำ ด้วยค่าร้อยละ 33.96 ทำให้มีชาวโซเชียลต่างให้ความสนใจและเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ล่าสุด นางสาวเสาวลักษณ์ ขาวแสง อายุ 30 ปี ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการวิจัยเนื่องมาจากการที่ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ได้มีการเก็บขยะทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-09.30 น. จากนั้นก็จะนำมาแยกเป็นประเภทต่างๆ แล้วชั่งน้ำหนัก โดยมีการจัดหาสถานีเก็บขยะในแต่ละวัน เพื่อเป็นการจดบันทึกข้อมูลว่า ในแต่ละรอบเดือน ในแต่ละรอบปี มีปริมาณขยะในแต่ละชนิดประมาณเท่าไหร่ หลังจากที่เก็บพบปัญหาว่าขยะเล็กๆที่ไม่สามารถเก็บมาได้เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าจึงคิดว่าขยะขนาดเล็กดังกล่าวจะต้องอยู่ในมวลน้ำ ตนจึงทำการศึกษาจากงานวิจัยของคนอื่นๆว่ามีการเก็บจากมวลน้ำในทราย นางสาวเสาวลักษณ์ กล่าวอีกว่า ทางศูนย์ฯจึงสนใจว่าในระบบบ่วงโซ่อาหารที่อยู่ใกล้ตัว โดยเฉพาะอาหารพื้นบ้านแกงไตปลาที่ชาวใต้นิยมรับประทานกินกันในขนมจีน หรือแกงไตปลาพร้อมเครื่องเคียง ซึ่งวัสถุดิบจะต้องเอากระเพาะปลามาหมักดอง โดยเฉพาะระบบบ่วงโซ่อาหารในทะเลปลาใหญ่จะกินปลาเล็กกินกันเป็นทอดๆ ทางศูนย์ฯจึงสนใจในโซนทะเลตรังบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมจังหวัดตรัง ซึ่งมีปลาเศรษฐกิจทั่วไปที่ทุกคนสามารถบริโภคได้ และมีราคาที่ไม่สูงเกินไป อยู่เป็นจำนวนมาก “ดังนั้น ทางศูนย์ฯ จึงได้เริ่มเก็บตัวอย่างปลาทู มาจากกลุ่มประมงขนาดเล็ก เฉพาะน่านน้ำในบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม แล้วนำปลามาแยกในส่วนของกระเพาะเข้า Lab ปฏิบัติการ ตรวจไมโครพลาสติกมีลักษณะเป็นอย่างไร ปรากฎว่าพบไมโครพลาสติกประมาณ 78 ชิ้น ต่อ 1 กระเพาะในตัวปลาทู การดำเนินการจะอาหารในกระเพาะปลามาผ่านการย่อย นขั้นตอนการกรองว่าสารที่เหลือพลาสติกเป็นอย่างไร ดูทั้งลักษณะของสีผ่านกล้องโทรทัศน์ จากงานวิจัยหลักวิชาการทั่วไป ไมโครพลาสติกจะมีขนาดประมาณ 1-5 มิลลิเมตร และไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ เพราะมีขนาดเล็กมาก เพราะเกิดมาจากการแตกหักของพลาสติกชิ้นใหญ่ในประเภทต่างๆ แล้วด้วยปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น ความเค็ม กระแสน้ำ จะทำให้พลาสติกแตกหักเป็นชิ้นเล็กๆ เรื่อยๆ จนกลายเป็นไมโครพลาสติก และปลาทูได้กินเข้าไปดังกล่าว” นางสาวเสาวลักษณ์ กล่าว นางสาวเสาวลักษณ์ กล่าวอีกว่า เมื่อปลาทูได้กินไมโครพลาสติกเข้าไป จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของปลาได้อย่างไรบ้างทางศูนย์ฯ ยังไม่ได้วิจัยถึงตัวปลาว่า จะได้รับผลกระทบหรือไม่ รวมทั้งสามารถบ่งบอกได้ว่าขยะเหล่านี้มาจากไหน แต่การวิจัยในครั้งนี้เพื่อต้องการที่จะให้ผู้คนตระหนักว่า ควรจัดการขยะอย่างไรให้ถูกวิธี และเป็นเพียงแค่ข้อมูลว่าระบบนิเวศตอนนี้มันเป็นยังไง เพราะถือเป็นวิกฤตขยะทางทะเลแล้ว อยากให้ทุกคนช่วยแก้กันที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ปลายเหตุ โดยเฉพาะการช่วยกันลดการทิ้งขยะ “ ส่วนในอนาคตทางศูนย์ฯ จะทำการวิจัยเรื่องไมโครพลาสติกเพิ่มเติม ในหอยตะเภา หอยชักตีน และหอยผีเสื้อ ซึ่งเป็นหอยชื่อดังประจำถิ่นของ จ.ตรัง และเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่คนนิยมบริโภคกันมาก ซึ่งจากการทำวิจัยปลาทูทั้งหมด 60 ตัว ในระยะเวลา 3-4 เดือน พบว่าเจอไมโครพลาสติกอยู่ในปลาทูทุกตัว มี 78 ชิ้นต่อตัว ซึ่งมันอยู่ในห่วงโซ่อาหารแล้ว นอกจากนี้ได้มีการวิจัยหอยเสียบ ของ จ.จันทบุรีแล้วด้วย แต่ในทางของสุขภาพมนุษย์นั้นในอุจจาระก็จะมีอยู่แล้ว แต่ในของประเทศไทยยังไม่มีการทดลองในเรื่องนี้ ในส่วนของสุขภาพจะมีผลกระทบไหมยังคงต้องรอการวิจัยต่อไป”นางสาวเสาวลักษณ์ กล่าว อย่างไรก็ตาม จากการที่มีสื่อโซเชียล กระจายข่าวเกี่ยวกับเรื่องการพบไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทูไทย จนอาจทำให้ผู้คนเริ่มตื่นตระหนก ถึงขั้นไม่กล้ากินปลาทูนั้น แต่จริงๆ แล้วขยะเหล่านี้คงไม่ได้อยู่ในเฉพาะปลาทูอย่างเดียว และไม่ได้เฉพาะเจาะจงบริโภคเฉพาะตัวของกระเพาะ เนื่องจากยังคงวิจัยต่อไปว่าในเนื้อเยื่อของปลามีการพบไมโครพลาสติกหรือไม่ด้วย ซึ่งไม่ถึงขั้นที่จะต้องตัดปลาจำพวกนี้ออกจากระบบห่วงโซ่อาหาร เพียงแต่เมื่อผลการวิจัยออกมา เราก็ควรยอมรับความจริง และอยากให้ตระหนักถึงเรื่องการไม่ทิ้งขยะให้มากที่สุด