สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุ “โลกเมื่อมองจากดวงจันทร์ ภาพด้านล่าง : ภาพโลกที่ถ่ายจากยานอวกาศสำรวจดวงจันทร์ Lunar Reconnaissance Orbiter ( LRO ) โคจรรอบดวงจันทร์ ที่ความสูง 134 กม. เหนือผิวดวงจันทร์ ในวันแรม 15 ค่ำ เราทุกคนเคยเห็นดวงจันทร์ ในแต่ละคืน ดวงจันทร์จะมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งเสี้ยวสว่างแตกต่างกัน และเวลาในการขึ้นลง เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ขณะที่มนุษย์คนแรกได้เหยียบพื้นดวงจันทร์ เขาได้เปล่งวาจาสะเทือนวงการดาราศาสตร์อย่างน่าจดจำ ก้าวเล็ก ๆ บนดวงจันทร์ ทำให้มนุษย์โลกเรียนรู้ และพัฒนาอีกมาก ณ ห้วงเวลานั้น เหล่ามนุษย์อวกาศได้มองขึ้นไปในความเวิ้งว้างว่างเปล่า พวกเขาเห็นดาวเคราะห์ที่เปี่ยมไปด้วยสิ่งมีชีวิตนานาชนิด ที่ๆ ครอบครัวพวกเขาอาศัยอยู่ ที่ ๆ สูดอากาศได้เต็มปอด ที่ ๆ เคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก และพวกเขามองเห็นความสุขของทุกคนที่นั่นกำลังเฝ้ามองเช่นกัน แต่ “โลก” ในมุมมองของมนุษย์อวกาศนั้นเป็นอย่างไร? ถ้าตำแหน่งที่ยานลงจอดอยู่ด้านที่หันมาหาโลก ดังนั้นมุมมองที่เขาเห็นโลกจะตรงข้ามกับคนบนโลกมองดวงจันทร์ ขึ้นอยู่กับว่าวันนั้นเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรม หากเป็นวันแรม 15 ค่ำ เขาจะเห็นโลกเต็มดวง เช่นเดียวกัน วันขึ้น 15 ค่ำ เขาจะไม่เห็นโลกนั่นเอง และการเคลื่อนที่ของดาวโลกในหนึ่งคืน แทบจะไม่เปลี่ยนตำแหน่งเลย ดาวโลกจะหมุนอยู่กับที่ในหนึ่งคืน ที่ขนาดเชิงมุม 1.8-2 องศา เมื่อพวกเขาอยู่บนดวงจันทร์ครบหนึ่งเดือน สิ่งที่เขาเห็นโลกเปลี่ยนแปลงในแต่ละคืนจะเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ และเปลี่ยนตำแหน่งเป็นรูปวงรี โดยโลกจะอยู่ห่างจากเส้นสุริยะวิถีไม่เกิน 5.14 องศา เท่ากับความเอียงของวงโคจรดวงจันทร์รอบโลกนั่นเอง สรุปโดยรวม สิ่งที่มนุษย์อวกาศเห็นโลกเคลื่อนที่ในแต่ละเดือนแตกต่างกัน เหตุนี้เกิดจากคาบการเปลี่ยนความเอียงของแกนหมุนของดวงจันทร์ในรอบเดือน มีลักษณะคล้ายลูกข่าง โดยจะวนรอบจุดศูนย์กลางแกนหมุน เรียกว่า “Libration” ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของโลกเป็นแบบวงรี การโคจรของดวงจันทร์เป็นวงรีรอบโลก มีความเร็วไม่เท่ากัน ทำให้เห็นโลกเปลี่ยนตำแหน่งเร็วและช้า อีกทั้งดวงจันทร์เปลี่ยนวงโคจรและระนาบวงโคจรตลอดทั้งปีเนื่องจากแรงไทดัล เป็นผลให้การเคลื่อนที่ของโลก มีลักษณะไม่คงที่ เปลี่ยนความรีไปทุกเดือน ดังนั้น มนุษย์อวกาศจะเห็นโลกเคลื่อนที่กลับไปกลับมาใกล้ ๆ เส้นสุริยะวิถี เป็นรูปวงรีในแต่ละเดือนไม่เหมือนกัน การเดินทางเยือนดวงจันทร์ครั้งถัดไป อาจนำความรู้ใหม่ ๆ มาต่อยอด ในการสังเกตการณ์มากยิ่งขึ้น ถ้าเขาตั้งหอดูดาวบนดวงจันทร์ก็คงเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ดวงดาว กระจุกดาว เนบิวลา ทางช้างเผือก กาแล็กซี บนนั้นคงสุกสกาวสว่างสดใสน่าดูชมกว่าบนโลกหลายเท่า เรียบเรียง : วทัญญู แพทย์วงษ์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : https://www.skyandtelescope.com/…/observing-earth-from-the…/ https://nssdc.gsfc.nasa.gov/planeta…/factsheet/moonfact.html https://ssd.jpl.nasa.gov/?horizons" ขอบคุณเรื่อง-ภาพจากเพจ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page