สำหรับหลักในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทยประสบความสำเร็จ จำเป็นจะต้องมียุทธศาสตร์ทางการตลาดของท่องเที่ยวโดยชุมชนให้สอดคล้องกับความพร้อมของด้านสินค้าและบริการ ซึ่งการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการ และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนในทุกระดับ โดยใช้ดัชนีวัดความสุขในพื้นที่พิเศษขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นดัชนีชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในระดับสากลจึงเป็นเรื่องสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ผลักดันสู่ระดับนโยบาย ซึ่ง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จากที่ได้รับฟังข้อเสนอของชมรมเครือข่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษ หรือ ชคพ.ในฐานะตัวแทนเครือข่ายผู้นำการท่องเที่ยวโดยชุมชนระดับประเทศยื่นเสนอสนับสนุนชุมชนทำการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้งหมด 4 ข้อต่อคณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชนและคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เพื่อผลักดันสู่ระดับนโยบายและนำมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ทั้งนี้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาการพัฒนาชุมชนให้ทำท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้และกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนได้จริง และสามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศของรัฐบาลไทย ที่มุ่งเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการพัฒนาชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวนั้น เป็นผลมาจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ได้นำองค์ความรู้เรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนมาถ่ายทอดให้ชุมชนได้นำไปปรับใช้ และพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ทางอพท.ได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพภาคีและเครือข?าย เพื่อขับเคลื่อนการท?องเที่ยวโดยชุมชน ได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนที่ดำเนินการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีแนวทางการดำเนินงานที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป รัฐออกมาตรการเพื่อชุมชน ด้าน นายสมศักดิ์ อินทะชัย ประธานชมรมเครือข่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษหรือ ชคพ. กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนของไทย ที่จะขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน ที่นำเสนอต่อ นายพิพัฒน์รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่า จะต้องอยู่บนพื้นฐาน4 ประเด็นหลัก ซึ่งเป็นแนวทางหนุนเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย ได้แก่ประเด็นที่ 1 จัดให้มีหน่วยงานหลักดำเนินการด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มุ่งเน้นนโยบายของภาครัฐ เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนออกกฎหมายที่เอื้อต่อการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างชัดเจน ขณะที่ประเด็นที่ 2 ขอให้ทางเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนทั่วทุกภูมิภาคได้เป็นตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนในเวทีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งในระดับจังหวัด ระดับเขตพัฒนาการท่องเที่ยว และ ระดับประเทศเพื่อร่วมคิดร่วมวางแผนให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยเกิดประโยชน์กับภาคประชาชนซึ่งเป็นพื้นฐานไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่วนประเด็นที่ 3 สนับสนุนการขับเคลื่อนการตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชนตั้งแต่การทำการตลาดออนไลน์ การสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนนำเสนอกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประเด็นที่ 4 พัฒนาหลักสูตรกลางเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ตรงกัน และ ขยายผลการสร้างบุคลากรด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อใช้ในการพึ่งพาตนเองในระยะยาว ต้องปูพื้นฐานความเข้าใจ อย่างไรก็ตามในการดำเนินงานจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนและพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน และสร้างสรรค์ จะต้องสอดคล้องกับสถานการณ์การพัฒนาการท่องเที่ยวของไทย ที่จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้าทางการท่องเที่ยวและการนำเสนอที่โดดเด่น หลากหลาย ตรงกับความต้องการและแนวโน้มของการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของการท่องเที่ยวโดยชุมชน กับรูปแบบการท่องเที่ยวด้านอื่นของไทย อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวทางทะเล พบว่า ผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนสามารถใช้เป็นฐานของสินค้าที่ระลึกทางการท่องเที่ยวประเภทอื่นๆ ของไทยได้ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรและทรัพยากรมนุษย์ของระบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน จะเป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจของการทำกิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันต่อไป