วันที่ 9 ก.ย.ที่สำนักงานตำรวนแห่งชาติ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. เปิดเผยถึงกรณีตามที่สื่อสังคมโซเชียลมีเดีย ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเด็นกลุ่มปลดแอกชาวสองล้อเข้าร้องเรียนกับ กทม. ขอให้พิจารณายกเลิกข้อบังคับเกี่ยวการขับขี่ รถเข็น รถจักรยาน รถ จยย. รถสามล้อหรือยานพาหนะบางประเภท ข้ามสะพาน ลอดอุโมงค์ บางจุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่าขอชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ในการออกข้อบังคับของเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และมีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาในการพิจารณาในการออกข้อบังคับฯ โดย ตาม ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็น เดินบนสะพานข้ามทางร่วม ทางแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ. 2559 พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวอีกส่า ในเขตพื้นที่ กทม. ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ ผู้บังคับการจราจร เป็นเจ้าพนักงานจราจรในพื้นที่ตามกฎหมาย และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณา ด้านต่างๆเกี่ยวกับความเหมาะสม ความปลอดภัย ตามหลักวิชาการ สถิติที่เกี่ยวข้อง โครงสร้างสะพาน และสภาพผิวจาจรบนถนน ซึ่งเล็งเห็นถึงความปลอดภัยต่อตัวผู้ขับขี่ยานพาหนะชนิดต่างๆเป็นสำคัญ จึงได้มีข้อบังคับในการห้ามขับขี่ขึ้นสะพาน ลอดอุโมงค์ในบางจุด โดยมีช่องการจราจรที่คับแคบ และลักษณะทางกายภาพที่มีความโค้ง อาจเกิดอุบัติต่อตัวผู้ขับขี่ คนโดยสาร หรือรถที่สัญจรผ่านไป-มา ได้ทั้งนี้ในเบื้องต้นพบว่าในจำนวนข้อบังคับที่ผ่านมาในหลายฉบับนั้น ปัจจุบันพบว่ามีจำนวน 58 สะพาน และ 7 อุโมงค์ ได้มีการห้ามไม่ให้ขับขี่รถบางประเภทขึ้นสะพานข้ามทางร่วมทางแยกและลงอุโมงค์ทางลอดทางร่วมทางแยก อาทิเช่น รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็น เดินบนสะพานและลงอุโมงค์ทางร่วมทางแยก ซึ่งในเบื้องต้นตามมาตรา 139 ในทางสายใดหรือเฉพาะทางตอนใดที่เจ้าพนักงานจราจรเห็นว่าถ้าได้ออกประกาศข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการจราจรแล้วจะเป็นการปลอดภัยและสะดวกในการจราจร ให้เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจออกประกาศข้อบังคับ หรือระเบียบดังต่อไปนี้ (1) ห้ามรถทุกชนิดหรือบางชนิดเดิน อีกทั้งหากฝ่าฝืนจะมีโทษใน 2 กรณี คือ (1) ถ้ามีการติดเครื่องหมายจราจร ตามมาตรา 21 จะมีความผิดตามมาตรา 152 ปรับไม่เกิน 1,000 บาท (2) หากเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับฯ จะมีความผิดตามมาตรา 154 (2) ปรับครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ข้อบังคับดังกล่าว ตามกฎหมายก็ยังถือว่ามีสภาพในการบังคับใช้ เนื่องจากยังไม่มีคำพิพากษา หรือ คำสั่งจากศาลให้เพิกถอน หรือ ทุเลาในการบังครับใช้ ก็ต้องขอความร่วมมือผู้ขับขี่ผู้ใช้รถใช้ถนนให้ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับที่ได้ออกมา ขณะนี้อยู่ระหว่างคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ยื่นพยานหลักฐานและคำชี้แจง เพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งที่เกี่ยวข้อง และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลนั้น ก็คงไม่อาจจะก้าวล่วงในการพิจารณาของศาลได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในระหว่างที่รอคำพิพากษาของศาล เจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ก็จะทำการศึกษาและร่วมกันพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไข เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่กระทบต่อประชาชนและสังคมโดยรวม มุ่งเน้นในการป้องกันและลดอุบัติเหตุเป็นสำคัญ ซึ่งคณะกรรมการในการพิจารณาออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานครนั้น ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจถึงประเด็นปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ได้ทำการศึกษาข้อมูลทางด้านหลักวิศวกรรม ความจำเป็นและเหมาะสม ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนข้อดี-ข้อเสียของการออกข้อบังคับฯ พร้อมกับรวบรวมสถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์บริเวณทางลอด ใต้ทางแยก และความคิดเห็นของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อมาประกอบการพิจารณาให้เป็นปัจจุบันและโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง โดยหลักแล้วก็จะพิจารณาถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนทุดชนิด ทุกรายเป็นสำคัญเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในภาพรวมที่อาจจะเกิดขึ้นได้