วันนี้ (9ก.ย.) ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ ถนนมหานาค กทม. กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดโครงการเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 โดยมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง  ทั้งนี้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ เป็นประธานในพิธีเปิด ในงานนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ กล่าวบรรยายเรื่อง “การพลิกผันของโลก สู่ประเทศไทยทิศทางใหม่แห่งการเรียนรู้” ตอนหนึ่งว่า เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น มีผลต่อพฤติกรรมและวิถีชีวิตของเราทุกคนในหลายระดับและหลายมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่นเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งสร้างความท้าทายต่อหลายองค์กร และที่สำคัญ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงอุดมการณ์ ค่านิยม และความคาดหวังของคน โดยการเปลี่ยนแปลงต่างๆทำให้เราต้องมาทบทวนว่ายังสามารถดำเนินงานตามวิธีเดิมๆต่อไปได้หรือไม่ และจะแสวงหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงเรานี้ได้อย่างไร ทั้งนี้ ในประเทศไทยมี 3 เรื่องที่เป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ 1.การเป็นสังคมสูงวัย ซึ่งสังคมเรากำลังเข้าสู่จุดนั้นเร็วกว่าที่คาดไว้ และเป็นลักษณะที่เรียกว่าแก่ก่อนรวย ขณะที่ประเทศเรายังขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก    2.ปัญหาความเหลื่อมล้ำทำให้ไทยและหลายประเทศต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องนโยบายและการบริหารภาครัฐ มีปัญหาเรื่องการครองที่ดิน รวมถึงรายได้เฉลี่ยของคนรวยกับคนจนจะมีความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้เป้าหมายและวิธีการเดิมในการบริหารเศรษฐกิจ สังคม และอีกหลายอย่าง ใช้ไม่ได้อีกต่อไป คนส่วนใหญ่แทบไม่ได้ดูที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่ดูที่สภาพชีวิตจริง  3.ปัญหาการเมืองไทย ตนมองอย่างตรงไปตรงมาว่าการเมืองไทยเดินไปต่อแบบนี้ไม่ได้ มิฉะนั้นปัญหาต่างๆในบ้านเมืองจะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างไร ซึ่งถ้าเราไม่ยอมรับความจริงตรงนี้ ก็จะสุ่มเสี่ยงที่ยิ่งเพิ่มความขัดแย้งในสังคมให้รุนแรง ซึ่งภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้จะมีผลกระทบกับการทำงานของทุกคนใน กระทรวงพัฒนาสังคมฯ   นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า  ประเทศเราต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เข้ามา ด้วยการทำงานเชิงระบบและช่วยลดความเสี่ยงของคนที่เกิดจากปัจจัยความผันผวนทั้งหลาย จึงหนีไม่พ้นเรื่องระบบสวัสดิการที่ครอบคลุม ชัดเจน และเป็นระบบมากกว่านี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน แต่ก็มีปัญหาอุปสรรคใหญ่ที่สุดคือทรัพยากรที่จะมาใช้ในระบบสวัสดิการ อาทิ การเก็บภาษี การหารายได้ของรัฐ  สำหรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่รัฐบาลทำอยู่ในตอนนี้ ที่จริงมันควรจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบสวัสดิการที่ดีได้ ตนเสียดายว่าช่วงที่ผ่านมา การทำเรื่องบัตรดังกล่าวอาจด้วยปัจจัยทางการเมืองหรือเรื่องใดก็ตาม ทำให้มีความไม่เป็นระบบ และมีคนยากจนเพิ่มขึ้น  รวมถึงสิทธิผู้ได้รับสวัสดิการควรมีความแน่นอน และไม่ใช่ขึ้นอยู่ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อไหร่ หรือจะมีมติคณะรัฐมนตรีออกมาเมื่อใด  ส่วนวิธีคิดที่เกี่ยวข้องกับการสร้างระบบสวัสดิการต้องมองดูที่สิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้มีความแน่นอนและลดความเสี่ยง นอกจากนี้ ภารกิจของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ จะสำเร็จได้ ต้องทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆที่มีความหลากหลาย ถึงเวลาที่ควรมีกฎหมายที่ทำให้ภาครัฐสามารถไปทำงานร่วมกับเอกชนและวิสาหกิจทางสังคมได้ โดยไม่ติดข้อจำกัดของกฎหมายหรือระบบราชการ วันนี้เราต้องอยู่กับความจริง อยากให้ทุกคนมีทัศนคติที่ไม่ใช่เป็นความกลัวและตั้งรับเท่านั้น แต่ต้องพลิกไปเชิงบวกว่าจะทำอย่างไรให้โอกาสที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสามารถสร้างประโยชน์ในงานของเราและการเปลี่ยนแปลงของเราได้