วันที่ 9 ก.ย.นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เพจเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Thirachai Phuvanatnaranubala ระบุว่า...“รัฐบาลลุงตู่ตั้งใจคำนวนต้นทุนเหมืองแร่ไม่ครบถ้วน หรือเปล่า?” บทความจากเพจ Somluk Hutanuwatr “พูดอย่างทำอย่าง หรือ ใครหลอกใคร หรือร่วมกันหลอกคนไทย ... ครม.ผ่านมติ ยุทธศาสตร์แร่แห่งชาติฯ เมื่อ ๓๑ ก.ค.๖๑ ระบุให้คำนึงถึงความคุ้มค่า ต่อมาเดือนเดียว ๑ สิงหาคม ๖๑ กรมฯกำหนดพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ โลหะสังกะสีและ โลหะแคดเมี่ยม เพียงร้อยละ ๒.๕๐ บาท .. เป็นความคุ้มค่าของใคร ... ที่มา สรุปประกาศราคาแร่และพิกัดค่า ภาคหลวงแร่ http://www.dpim.go.th/minerals-minerals/mp002.php และ ยุทธศาสตร์แร่แห่งชาติ http://www.dmr.go.th/ewtadmin/ewt/minerals/main.php… ผมเคยเขียนไว้หลายครั้งว่า ลักษณะภูมิศาสตร์และวิถีชีวิตของไทยนั้น แตกต่างจากบางประเทศที่เน้นเหมืองแร่เป็นธุรกิจหลัก กรณีเหมืองอยู่ในป่า เขา ทะเลทราย และอยู่ห่างชุมชน ผลกระทบไม่มาก แต่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และจุดที่มีสายแร่ก็มักจะอยู่ใกล้ชุมชน รวมทั้งบางสายแร่อยู่ตื้นแต่แผ่กินเนื้อที่กว้าง จึงต้องเปิดหน้าดินเป็นบ่อขนาดใหญ่ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงสารเคมีรั่วไหล สำหรับประเทศที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยอาหาร ประเทศที่ตั้งเป้าเป็นครัวโลก กิจกรรมเหมืองแร่ที่มีความเสี่ยง จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือด้านอาหาร ต้องถือว่ามีต้นทุนสูงมาก ทั้งทางเศรษฐกิจ และทางสังคม การที่รัฐกำหนดอัตราค่าภาคหลวงเพียงเล็กน้อยนั้น เป็นการดูถูกคนไทย แต่ถึงแม้จะพยายามแก้ไขให้สูงขึ้น ในแง่มุมวิถีชีวิตไทยนั้น รัฐจะกำหนดอัตราค่าภาคหลวงสูงเท่าใด ก็จะไม่คุ้ม เว้นแต่เป็นกิจกรรมที่ไม่ใช้เคมี และกิจกรรมที่ไม่เสี่ยงต่อภาคเกษตรเท่านั้น เรื่องแบบนี้ไม่ยากเกินไป จึงสงสัยว่าทำไมรัฐบาลลุงตู่จึงไม่ยอมเข้าใจ?