“อลงกรณ์” ชงปลดล็อคกัญชง จากบัญชียาเสพติด แนะสธ.เร่งแก้กฎกระทรวง ปี59 ชี้โอกาสทองของเกษตรกรไทย ปลูกพืชเศรษฐกิจฐานรากยุคใหม่ของโลก แปรรูปสู่ 10 กลุ่มผลิตภัณฑ์โกยรายได้แสนล้านบาทเข้าประเทศ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการส่งเสริมกัญชาและกัญชงว่า นโยบายของรัฐบาลสนับสนุนกัญชาและกัญชงเพื่อการแพทย์ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตามในส่วนต้นน้ำ คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีหน่วยงานเช่นสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงและกรมวิชาการเกษตร ได้วิจัยและพัฒนาพันธุ์กัญชง หรือ เฮมพ์ (Hemp)ภายในพื้นที่ควบคุมพร้อมส่งเสริมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆมากว่า 10 ปี พร้อมที่จะสนับสนุนให้เอกชนและเกษตรกรที่ได้รับอนุญาตปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจฐานรากใหม่ทันทีที่มีการแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะ เฮมพ์ พ.ศ.2559 และสอดรับกับการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จะปลดซีบีดี (CBD) จากบัญชียาเสพติดในปี 2563 นายอลงกรณ์ กล่าวว่า กัญชงมีสารซีบีดี (CBD) สูงกว่ากัญชามากและมีสารเสพติดทีเฮ็ชซี (THC) น้อยมาก ยิ่งกว่านั้นกัญชงสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนเช่นช่อดอก เมล็ด เปลือก ใบ ลำต้นและรากในการแปรรูปสร้างมูลค่านับแสนล้านอย่างน้อยใน10กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มเวชภัณฑ์ยา,กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์,กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องดื่มและอาหารเสริม(Super Food),กลุ่มผลิตภัณฑ์กระดาษ,กลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอเสื้อผ้า,กลุ่มผลิตภัณฑ์นิรภัย,กลุ่มก่อสร้างและวัสดุภัณฑ์,กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์,กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี เช่น ซูเปอร์คาพาซิเตอร์(Super Capacitor) เป็นต้น “จึงเป็นโอกาสทองของประเทศไทยและเกษตรกรของเราที่จะมีพืชเศรษฐกิจฐานรากใหม่เป็นพืชแห่งอนาคตเข่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาผ่านกฎหมายฟาร์มบิลล์(Farm bill2018)ปลดล็อคกัญชงเมื่อปีที่ผ่านมาสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ๆกว่า22มลรัฐในขณะที่จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอีกหลายประเทศทั่วโลกก็ส่งเสริมสนับสนุนกัญชงจนกล่าวได้ว่าเป็นเฮมพ์อีโคโนมีของโลก เราจึงต้องเดินเร็วเดินให้ถูกทางโดยเฉพาะการแก้ไขกฎกระทรวงปี2559ในส่วนบทเฉพาะกาลเพื่อปลดล็อคกัญชงให้เอกชนและเกษตรกรผลิตแปรรูปสร้างงานสร้างรายได้ประการสำคัญคือกัญชงปลูกและเก็บเกี่ยวต่อรอบผลิตเพียง120วันกินน้ำน้อยไม่ต้องใช้ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลงหรือยากำจัดวัชพืชที่เป็นอันตรายต่อเกษตรและสภาพแวดล้อม”นายอลงกรณ์ กล่าว