โรคจากหนู ติดต่อจากการหายใจเอาละออง-ของเสียที่หนูขับถ่ายออกมา กินหรือใช้ภาชนะปนเปื้อนเชื้อ โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ยันเมืองไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวในต่างประเทศว่า ทางการไลบีเรียประกาศภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข เนื่องจากการระบาดของโรคไข้ลาสซา และพบรายงานผู้ป่วยในบางประเทศแถบแอฟริกานั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดก.สาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคติดต่ออันตราย ซึ่งตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศกำหนดให้โรคไข้ลาสซาเป็นโรคติดต่ออันตราย ที่จะต้องเฝ้าระวังและดำเนินการอย่างเข้มข้น และให้กรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด รวมถึงดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขไลบีเรีย พบมีรายงานสถานการณ์โรคไข้ลาสซา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–25 ส.ค.62 มีผู้ป่วยยืนยันแล้ว 25 ราย เสียชีวิต 9 ราย นอกจากนี้ มีรายงานผู้ป่วยในประเทศแถบแอฟริกา เช่น ไนจีเรีย (ยืนยัน 658 ราย เสียชีวิต 145 ราย) นิมบา แกรนด์บาสสา บอง และแกรนด์กรู เป็นต้น ทั้งนี้ ก.สาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค มีการติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังโรคไข้ลาสซาในต่างประเทศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมสั่งการกองโรคติดต่อทั่วไป กำชับด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ให้เตรียมพร้อมและตรวจคัดกรองนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอย่างเข้มข้น ถึงแม้จะยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยโรคดังกล่าวในประเทศไทยก็ตาม สำหรับนักท่องเที่ยวหลังกลับจากพื้นที่เสี่ยง หากมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บหน้าอก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ให้รีบพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษา แจ้งประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย นพ.สุวรรณชัยกล่าวอีกว่า โรคไข้ลาสซา จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับโรคอีโบลา ติดต่อจากการที่คนหายใจเอาละอองของเสียที่หนูขับถ่ายออกมา เช่น ปัสสาวะ และอุจจาระ เข้าไป หรือกินอาหารหรือใช้ภาชนะที่มีการปนเปื้อนเชื้อ หรือติดเชื้อทางแผล/เยื่อเมือกบุผิว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการ อาการของโรคไข้ลาสซา คือ มีไข้ ไข้จะยังคงมีอยู่ตลอด หรืออาจไข้สูงเป็นระยะ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง เจ็บหน้าอก และปวดช่องท้อง อ่อนเพลีย โรคนี้จะรักษาตามอาการ เพราะไม่มียารักษาเฉพาะ และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน สำหรับวิธีป้องกัน ได้แก่ ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลเป็นพิเศษ โดยหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ควรล้างทำความสะอาดภาชนะที่ใช้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรค และดูแลความสะอาดรอบๆ ที่พักเพื่อควบคุมการกำจัดหนูและสัตว์กัดแทะซึ่งเป็นพาหะนำโรค มีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422