“กสม.” ระดมสมองหามาตรการลงโทษทางอาญาให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน พร้อมส่งเสริมหน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมายโดยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน วันที่ 6 ก.ย. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณี สิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จทรงเปิดงานสัมมนา เรื่อง การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 2 ณ ห้องประชุม The Circle โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ ในการนี้ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถวายรายงานตอนหนึ่งว่า นับแต่ปี 2545 เป็นต้นมา กสม. ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนควบคู่กับการส่งเสริม สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ หลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการจับกุมคุมขังบุคคล ซึ่งในระหว่างการคุมขัง บุคคลย่อมสูญเสียสิทธิ ในการเดินทางอย่างมีอิสระ เสรี อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่ง แม้ว่ารัฐจะมีเหตุผล ในการทำให้บุคคลเสื่อมเสียอิสรภาพในรูปของโทษจำคุก ซึ่งต้องมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน และต้องมีกระบวนการปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อเยียวยาแก้ไขให้เป็นการคืนคนดีสู่สังคม นายวัส กล่าวว่า การลงโทษทางอาญาในสถานหนักแก่สตรีหรือผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติด ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ สำนักงาน กสม. ได้เข้าไปเก็บข้อมูลจากผู้ต้องขังกลุ่มตัวอย่าง ดังที่ได้แสดงนิทรรศการไว้ในวันนี้ สำนักงาน กสม. กระทรวงยุติธรรม และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จึงเห็นควรจัดสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ เพื่อผลักดันข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับการลงโทษอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน และเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายตระหนักถึงความสำคัญของหลักสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสัมมนาในวันนี้ยังมีการบรรยายพิเศษโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและมาตรการทางเลือกทดแทนการใช้โทษทางอาญา อาทิ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย , การเสวนาเรื่อง “มาตรการด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อการลดการลงโทษทางอาญา” และการเสวนาเรื่อง “กรณีศึกษาแนวทางการลงโทษทางอาญา” โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานองค์กรอิสระ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม อัยการ ผู้พิพากษา ผู้แทนพรรคการเมือง นักวิชาการ ประมาณ 200 คน