"มท.2" แนะปชช.ห่วงชีวิตตัวเองก่อน ภาครัฐพร้อมเยียวยา ยันดูแลเต็มที่ ชี้ข้อดีน้ำท่วมช่วยเติมอุปโภค – บริโภค แก้แล้งพ้นวิกฤตทุกพื้นที่ ขณะที่ 10 จว.ยังอ่วมโพดุล – คาจิกิ เสียชีวิตพุ่ง 19 ศพ 6ก.ย.62 ที่โรงแรมเอสดี อเวนิว บางพลัด กทม. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมสถานการณ์อุทกภัย จากผลกระทบพายุโพดุล และคาจิกิว่า ขณะนี้ยังมีสถานการณ์อยู่ใน 10 จังหวัด แต่ทุกจังหวัดได้มีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่แล้วให้มีความปลอดภัย เริ่มที่ความปลอดภัยในชีวิตก่อน เพราะเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก ก่อนจะดูแลทรัพย์สินของประชาชนที่เสียหาย เป็นช่วงการฟื้นฟูให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายทั้งหมด กรณีพืชสวนไร่นาเสียหาย ก็จะมีค่าชดเชยให้ นอกจากนี้ยังได้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และ เกี่ยวกับการสัญจรที่สะพานชำรุด อย่างเช่น จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ส่งสะพานแบร์ริงเข้าไปช่วยแล้ว ทำยังไงให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด อย่างไรก็ตามก็ต้องถือว่าสถานการณ์อุทกภัยครั้งนี้ไม่ใช่มีแต่ผลเสีย เพราะทำให้ปัญหาภัยแล้งที่เราวิตกกังวลกันคลายลงไปด้วย “ปริมาณน้ำในพื้นที่ต่างๆที่คาดกันว่าจะไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค ขณะนี้เรามีน้ำอย่างพอเพียงแน่นอน รวมถึงนำที่ใช้เพื่อการเกษตรด้วย ขณะนี้ปัญหาภัยแล้วน่าจะจบสิ้นไปด้วยแล้ว จังหวัดที่ประสบปัญหาภัยแล้งขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีน้ำพอเพียงที่ดูแลประชาชนทุกด้าน” รมช.มหาดไทย กล่าว ต่อมานายนิพนธ์ กล่าวในการเป็นประธานเปิดประชุมและมอบนโยบายในการประชุมวิชาการขับเคลื่อนการดำเนินการงานด้านความปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืนตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นประชาชนต้องเอาชีวิตให้รอดไว้ก่อน จะไปหวังการเยียวยาไร่นาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะภาคราชการเขามีหลักเกณฑ์ในการดูแลตามกฎหมายอยู่แล้ว คือ ไร่ละ 1,113 บาท อย่าไปหวังว่าหากมีการสูญเสียแล้ว ตามหลักเกณฑ์ หากสูญเสียหัวหน้าครอบครัวจะได้ค่าเยียวยาจำนวน 50,000 บาท คนในครอบครัวสูญเสียจำนวน 25,000 บาท มันไม่มีประโยชน์ ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวสรุปสถานการณ์จากอิทธิพลพายุโซนร้อน"โพดุล" และ พายุโซนร้อน “คาจิกิ” ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยว่า ขณะนี้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ รวม 32 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ กระบี่ ปราจีนบุรี แพร่ นครพนม เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ระนอง เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ขอนแก่น หนองบัวลำภู ยโสธร กาฬสินธุ์ น่าน ตราด มุกดาหาร อุตรดิตถ์ ชัยภูมิ สุรินทร์ พิษณุโลก พิจิตร แม่ฮ่องสอน ชุมพร อุดรธานี สระแก้ว ลำปาง เลย สุโขทัย ศรีสะเกษ และสกลนคร 147 อำเภอ 581 ตำบล 3,142 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล 11 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 158,028 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 19 ราย (อำนาจเจริญ 4 ราย ร้อยเอ็ด 4 ราย ขอนแก่น 3 ราย ยโสธร 3 ราย พิจิตร 2 ราย อุบลราชธานี 1 ราย มุกดาหาร 1 ราย) ผู้บาดเจ็บ1 คน (ชัยภูมิ) ผู้สูญหาย 2 ราย (อำนาจเจริญ พิจิตร) ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร อำนาจเจริญ ยโสธร ขอนแก่น อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ และสกลนคร อพยพประชาชน 3,438 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัด รวม 15 จุด (อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี)