นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กเรื่อง'ต้องแก้ไขกฎหมายeecขายชาติขายแผ่นดิน ตรงจุดไหน' ความว่า...
“ต้องแก้ไขกฎหมาย eec ขายชาติขายแผ่นดิน ตรงจุดไหน?” รักษาการณ์ผู้ว่ารฟท.กำลังง่วนส่งมอบพื้นที่ให้แก่เอกชน ในโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินฯ ก่อนจะลงนามสัญญากับกลุ่มซีพีภายในเดือนกันยายน 2562 ตามนโยบายนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ท่านควรจะมองรอบด้านจากบทความ “EEC ไม่มีที่ยืน ที่อยู่ของประชาชนคนงาน” ของคุณสาวิทย์ แก้วหวาน สร.รฟท. เพราะการเดินหน้าโครงการที่ไม่ได้การยอมรับจากทุกฝ่าย ย่อมจะไม่ราบรื่น ถามว่า ถ้าจะแก้ไขกฎหมาย eec เพื่อให้:- *เกษตรกรรมอยู่ได้กับอุตสาหกรรม* *ประชาชนอยู่ได้กับสิ่งแวดล้อม* และ *แรงงานอยู่ได้กับนายทุน* ต้องแก้จุดไหน? จุดที่หนึ่ง ต้องยกเลิกอำนาจที่จะขยายเขตพื้นที่ได้ตามอำเภอใจ มาตรา 6 เริ่มต้นด้วยการกำหนดเป้าหมายพื้นที่ในภาคตะวันออก โดยเน้นฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง นั้น พอยอมรับได้ แต่วรรคท้าย ที่ให้อำนาจขยายพื้นที่เข้าไปเขตจังหวัดอื่นที่ติดต่อหรือเกี่ยวข้องกับพื้นที่ข้างต้นนั้น เปิดประตูให้ปั้นโครงการ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่นายทุน โดยเอื้อมเกี่ยวคว้าเอาที่ดินในกรุงเทพและปริมณฑลได้ตามใจชอบ ช่องโหว่ตรงนี้เอง ที่รัฐบาลใช้จัดตั้งโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินฯ ที่ต้องทุ่มทรัพยากรของประเทศสองแสนห้าหมื่นล้านบาท และบังคับใช้ที่มักกะสันของ รฟท. ที่รัชกาลที่ห้าทรงพระราชทานไว้เพื่อประโยชน์ของ รฟท. เปลี่ยนเอาไปเพื่อประโยชน์แก่เอกชน ทั้งที่รัฐสามารถยกถนนข้ามรถไฟรางคู่ ปรับขึ้นเป็นความเร็วปานกลาง 150 กม/ชม โดยลงทุนเพียงห้าหมื่นล้านบาท จุดที่สอง ต้องยกเลิกการรวบอำนาจกระบวนการแก้ไขผังเมือง กระบวนการผังเมืองเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม ซึ่งจะต้องมีการรับฟังความเห็นหลายฝ่าย โดยเฉพาะการเปลี่ยนพื้นที่ห่วงโซ่อาหารห่วงต้นสายโซ่ ไปเป็นอุตสาหกรรม โดยเปิดประตูให้นักธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม กว้านซื้อที่ดินราคาถูก แล้ววิ่งใต้โต๊ะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วง จุดที่สาม ต้องยกเลิกการขายที่ดินให้ต่างชาติ กฎหมายไทยคุ้มครองคนไทย โดยห้ามมิให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน เว้นแต่ในโครงการ BOI ซึ่งเป็นไปตามระยะเวลาของการผลิตอุตสาหกรรม แต่กฎหมายนี้กลับให้สิทธิต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ไม่ว่าระยะเวลาของการผลิตอุตสาหกรรมจะสั้นเพียง 20 หรือ 30 ปีก็ตาม นอกจากให้สิทธิต่างชาติเช่า 99 ปีแล้ว ยังให้สิทธิต่างชาติเอาที่ดินไปให้เช่าช่วงแก่คนต่างชาติด้วยกันอีกด้วย จึงไม่ใช่กฎหมายที่เน้นส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม แต่เป็นกฎหมายขายที่ดินให้แก่ต่างชาติเป็นสำคัญ จุดที่สี่ ต้องปิดช่องมิให้เวนคืนที่ดินมาเพื่อประโยชน์แก่ต่างชาติ รวมถึงที่ สปก. และที่ราชพัสดุ การเวนคืนที่ดิน เป็นการบังคับรอนสิทธิประชาชนเจ้าของที่ดิน ดังนั้น กฎหมายจึงให้ทำได้เฉพาะเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ส่วนการใช้ที่ สปก. และที่ราชพัสดุนั้น มีกฎหมายเข้มงวดกำกับต่างหากอยู่แล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าถูกต้องตามเงื่อนไขของสังคม และรัฐได้ประโยชน์สูงสุดจากที่ราชพัสดุ การที่กฎหมายนี้ไปรวบอำนาจที่ดินทั้งสามประเภท เป็นอันตรายอย่างยิ่ง และเปิดช่องทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงรับเงินทอนได้อย่างมโหฬาร เพราะไม่มีวิธีใดที่จะสามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนเอกชนได้หนักมือ เท่ากับการใช้อำนาจพิเศษ รวบเอาที่ดินสามประเภทดังกล่าว ไปประเคนให้นายทุนเอกชนใช้ในราคาถูก นอกจากนี้ กรณีหากสามารถใช้กฎหมายนี้รวบที่ดินสามประเภทไปเพื่อประโยชน์แก่นายทุนต่างชาติ ก็จะเข้าเงื่อนไขเป็นการขายชาติอย่างชัดเจนที่สุด จุดที่ห้า ต้องไม่รอนสิทธิประชาชนและแรงงาน การผลิตอุตสาหกรรมถึงแม้จะอยู่ในมาตรฐานมลภาวะที่กำหนด แต่ย่อมมีข้อขัดแย้งกับชุมชนและกิจกรรมเกษตรเป็นครั้งคราว ที่จำเป็นต้องบริหารจัดการหาข้อยุติร่วมกันเพื่อแก้ไขและป้องกัน เช่นเดียวกับปัญหาระหว่างนายทุนกับแรงงาน ดังนั้น กฎหมายจะต้องไม่ปิดกั้นขบวนการที่ประชาชนและแรงงานจะรวมตัวกัน เพื่อเจรจาและร่วมในการบริหารน้ำดี น้ำเสีย ควันพิษ และสวัสดิการที่เป็นธรรม รวมไปถึงการจัดตั้งสหภาพแรงงาน รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไม่ควรคิดว่า เมื่อสำเร็จในการผลักดันกฎหมาย eec ผ่าน สนช. ได้แล้ว ถือเป็นข้อยุติ เพราะกฎหมายใดที่ผ่านสภาในช่วงเวลาที่ไม่มีฝ่ายค้าน ที่นำไปสู่การปฏิบัติที่ลิดรอนความเป็นธรรมในสังคม วันหนึ่งจะก่อความเครียด และลูกโป่งจะระเบิดออกมา ท่านต้องเลือก จะทิ้งมรดกไว้แก่ชนรุ่นหลัง เป็นสีขาว หรือสีดำ