ภาพลายเส้นที่ดูสับสนระคนความรู้สึกที่หมองหม่น หากแต่ทุกเส้นสายคือแรงบันดาลใจมาจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ อิทธิพล ตั้งโฉลก ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะมากว่า 50 ปี เพื่อร่วมถ่ายทอดเรื่องราว “งานศิลป์” สู่โลกแห่ง “แฟชั่น” จิม ทอมป์สัน จึงได้นำผลงานวิจิตรศิลป์เชิงนามธรรมที่เปี่ยมไปด้วยพลังมาหลอมรวมกับผืนผ้าไหมอันทรงคุณค่า สู่ผลงานผ้าพันคอคอลเลคชั่นพิเศษลิมิเต็ดเอดิชั่น “ITHIPOL SCARF” (อิทธิพล สคาร์ฟ) ที่แฝงไว้ด้วยอัตลักษณ์ของผลงานต้นแบบสุดล้ำ โดย คุณชุติมา ดำสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร จิม ทอมป์สัน กล่าวว่า “ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา สินค้าในกลุ่มแฟชั่นและแอคเซสซอรี่ ถือเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากของแบรนด์ จิม ทอมป์สัน โดยเฉพาะตลาดในประเทศไทย เราจึงได้สร้างสีสันใหม่ๆ ให้กับสินค้ากลุ่มนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง ภายใต้รูปแบบ Collaboration Project ที่เน้นการนำเอาเรื่องราวของ “งานศิลป์” หลายแขนง มาผสานความลงตัวเข้ากับเรื่องราวของ “แฟชั่น” ล่าสุด จิม ทอมป์สัน ได้เปิดปรากฏการณ์ใหม่กับร้านอาหาร BOMBYX ที่นำเสนอภายใต้แนวคิด ART & CUISINE ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่นำเสนอเอกลักษณ์ของอาหารไทยในสไตล์ร่วมสมัย และเรื่องราวเกี่ยวกับงานศิลปะที่สามารถสร้างความสุนทรีย์ให้กับผู้มาเยือน โดยผลงานที่นำมาจัดแสดงภายในร้านจะเป็นการทำงานร่วมกับศิลปินชั้นนำที่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาจัดแสดงอย่างต่อเนื่อง (จากซ้าย) จิรา ภักดีถวัลย์ - ภิวัฒน์ เลขยานนท์  - ศ.เกียรติคุณ อิทธิพล ตั้งโฉลก - ชุติมา ดำสุวรรณ “ผลงานชุดแรกในการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เป็นการนำคอลเลคชั่นผลงานภาพวาดของศาสตราจารย์เกียรติคุณอิทธิพล ตั้งโฉลก ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2551 ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะเชิงนามธรรมที่แฝงด้วยจิตวิญญาณและแรงบันดาลใจมากกว่า 50 ปี ทั้งหมด 9 ภาพมาจัดแสดงภายในร้าน อีกทั้งยังได้ต่อยอดนำผลงานบางส่วนไปถ่ายทอดลงผืนผ้าไหมอันทรงคุณค่า อันเป็นเอกลักษณ์ของ จิม ทอมป์สัน จนได้ผ้าพันคอที่แฝงไว้ด้วยแนวความคิดและอัตลักษณ์ของผลงานต้นแบบ โดดเด่นด้วยเทคนิคและเต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพชั้นสูงในแบบฉบับของ จิม ทอมป์สัน กับคอลเลคชั่นผ้าพันคอลิมิเต็ดเอดิชั่น ภายใต้ชื่อ “ITHIPOL SCARF” (อิทธิพล สคาร์ฟ) ที่ร้านจิม ทอมป์สัน สาขาสุรวงศ์ สาขาสยามพารากอน สาขาดิเอ็มโพเรียม และสาขาเซ็นทรัลเวิลด์” คุณชุติมากล่าว ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อิทธิพล ตั้งโฉลก ในฐานะเจ้าของผลงานต้นแบบ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในการร่วมงานระหว่างผมที่เป็นศิลปินผู้ทำงานศิลปะเชิงทัศนศิลป์ กับนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นศิลปะเชิงประยุกต์ ซึ่งนับว่าเป็นการขยายขอบเขตทางศิลปะจากผลงานที่เป็นภาพนิ่ง ซึ่งปกติจะแขวนบนผนังในหอศิลป์ ไม่อาจสัมผัสหรือจับต้องได้ มาสู่ผลงานผ้าพันคอผ้าไหมชั้นดีที่สามารถจับต้องและใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ชมผลงานของผมในวงกว้างมากขึ้น โดยผมและทีมงานของ จิม ทอมป์สัน ได้ร่วมกันออกแบบและพัฒนาคอลเลคชั่นพิเศษนี้อย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ผลงานที่ใกล้เคียงกับภาพวาดต้นฉบับมากที่สุด นอกจากนี้ บางลวดลายที่ต้องปรับเปลี่ยนสีและรูปแบบต่างๆ ทางทีมงานของจิม ทอมป์สัน จะสอบถามความเห็นชอบจากผมทุกครั้ง ถือเป็นการให้เกียรติ และเคารพความเป็นเจ้าของผลงานต้นฉบับอย่างยิ่ง (จากบน) ผ้าพันคอจากผลงาน “HORIZONTAL LINES” ,  ผลงาน “BLUE TREE”ผลงานที่จิม ทอมป์สัน เลือกมาทำเป็นผ้าพันคอ แบ่งเป็น 2 ชุด ได้แก่ งานชุดช่วงก่อนที่ผมจะป่วย 3 ชิ้น และงานชุดปัจจุบันที่สร้างสรรค์ขณะเป็นโรคพาร์กินสันแล้ว ชื่อชุดว่า ‘การเดินทางของเส้นพาร์กินสัน’ 5 ชิ้น ซึ่งทั้งสองชุดมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้เด่นชัด โดยงานชุดเก่าจะเน้นสร้างสรรค์ตามแนวคิดเรื่องสัมพันธภาพของคู่ขัดแย้ง ซึ่งต่างกับการสร้างสรรค์ผลงานชุดปัจจุบัน ที่เปลี่ยนวิธีการทำงานเป็นการระบายจินตนาการแบบไม่มีภาพร่าง แต่จะลงมือถ่ายทอดออกมาเป็นเส้นสายต่างๆ โต้ตอบกับสถานการณ์ตรงหน้าไปเรื่อยๆ แบบฉับพลันทันที โดยไม่คำนึงถึงความคิดเชิงเหตุผลและทฤษฎีต่างๆ นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนวัสดุจาก ผ้าใบขนาดใหญ่เป็นกระดาษขนาดเล็กและแผ่นพลาสติกพีวิซี (PVC) สีดำ และมาร์คเกอร์สีน้ำมัน (Oil Based Paint Marker) ซึ่งทำให้เส้นสายต่างๆ มีลักษณะกึ่งโปร่งใส สามารถเขียนซ้อนทับกันได้หลายชั้นในขณะที่ยังคงมองเห็นสีชั้นล่างอยู่ เกิดเป็นแนวคิดในการแยกมิติแห่งความหมายของลายเส้นสีต่างๆ ได้แก่ ชั้นสีสด สีทอง และสีเงิน โดยชั้นสีสด หมายถึง รูปทรงของวัตถุแบบเหมือนจริง สีทอง หมายถึง รูปทรงของวัตถุแบบอุดมคติ และสีเงิน หมายถึง เส้นรูปทรงของสิ่งที่เป็นนามธรรม ที่ทุกชั้นจะซ้อนกันโดยไม่มีความสัมพันธ์กันทางรูปร่าง แต่เชื่อมโยงกันด้วยความหมายตามความคิดและความรู้สึกของศิลปิน อาทิ ผลงาน "BLUE LINES" ที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกขณะเป็นโรคพาร์กินสันออกมาเป็นเส้นสายสีน้ำเงิน ซึ่งสื่อความรู้สึกเศร้าสร้อย เหงา โดดเดี่ยว ที่กำลังแผ่ขยายออกไปทุกทิศทุกทาง แทรกเข้าไปตรงกลางระหว่างเส้นสีเงิน สีทอง” “ความเจ็บป่วยของผมทำให้งานเปลี่ยนไปเยอะ เทคนิคเปลี่ยนไป รูปแบบเปลี่ยนไป ตอนที่ป่วยเป็นเรื่องของความทุกข์ ความทรมานที่เจ็บป่วย งานจึงเป็นการระบายออกของอารมณ์มากกว่าการคิด การวางแผน ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่าทำไมจึงเอาความเจ็บป่วยมาแสดงให้ดู สิ่งที่ผมแสดงออกคือสัจธรรม เป็นเรื่องสากล มีความหมายแฝงอยู่ ทั้งความดี ความงาม และความหวัง การได้ร่วมงานกับจิม ทอมป์สัน ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้เผยแพร่ผลงานในอีกรูปแบบหนึ่ง ได้ถ่ายทอดศิลปะบริสุทธิ์มาเป็นศิลปะประยุกต์ เผยแพร่ในกว้างที่ขึ้น งานที่ทำเป็นภาษาภาพที่สื่อจากในคนสร้างถึงใจคนดู” ศ.เกียรติคุณ อิทธิพล กล่าว ผลงาน  “SILENCE & SOUND” ที่ใช้เทคนิคพิเศษพิมพ์เพื่อให้สีของทั้งสองด้านไม่ซึมมาทับกัน อีกหนึ่งขั้นตอนที่ทำให้ผ้าพันคอคอลเลคชั่นพิเศษนี้มีความสวยงามเสมือนงานศิลป์ต้นแบบ โดย คุณภิวัฒน์ เลขยานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ จิม ทอมป์สัน หนึ่งในทีมดีไซเนอร์ครั้งนี้ กล่าวว่า “ผลงานศิลปะทุกชิ้นที่คัดเลือกมาล้วนมีความโดดเด่น เป็นลวดลายที่เหมาะในการนำมาทำเป็นผ้าพันคอซึ่งดูสวยแปลกตาและทำให้เกิดรูปลักษณ์ใหม่ๆ โดยเราได้นำภาพผลงานจริงของอาจารย์อิทธิพลมาเป็นต้นแบบในการแกะลวดลายอย่างละเอียดเพื่อให้ทุกลวดลายยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และความหมายที่แฝงอยู่ในผลงานให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ เรายังใช้เทคนิควิธีการผลิตแบบพิเศษ เช่น การลงพิกเมนต์มุกสีเงินและสีทองให้คงความแวววาวและชัดเจนของลายเส้นโดยเฉพาะในผลงานชุด ‘การเดินทางของเส้นพาร์กินสัน’ ที่ใช้เส้นสีทอง สีเงิน ในการเดินเรื่องและสื่อนัยยะสำคัญ อย่างผ้าพันคอลาย ‘BLUE LINES’ ‘HORIZONTAL LINES’ ซึ่งหากพิมพ์ธรรมดาทั่วไป สีจะจมและกลืนไปกับสีพื้นหลัง เราจึงใช้เทคนิคพิเศษซึ่งช่วยให้ได้สีที่แวววาวเหมือนอย่างภาพผลงานต้นฉบับ รวมถึงในบางผืนได้เพิ่มความพิเศษด้วยการพิมพ์ลาย 2 ด้านลงบนผ้าผืนเดียวกัน อย่างผ้าพันคอลาย "SILENCE & SOUND" ที่กรรมวิธีในการทำมีความยากและซับซ้อนมาก ต้องใช้เทคนิคพิเศษเพื่อให้สีของทั้งสองด้านไม่ซึมมาทับกันสัมผัสความงามแห่งงานศิลป์บนผืนผ้าไหมสุดล้ำค่า กับผ้าพันคอคอลเลคชั่นพิเศษลิมิเต็ดอิดิชั่นจาก จิม ทอมป์สัน “ITHIPOL SCARF” ดูรายละเอียดได้ที่ www.jimthompsonbombyx.com - ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ได้ที่ : [email protected] ติดตามความเคลื่อนไหวข่าวเยาวชนได้ที่ แฟนเพจ "สยามรัฐ เยาวชน"