นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กเรื่อง' รัฐบาลอย่าเฉือนเนื้อประชาชนไปให้บริษัทเอกชน' ความว่า....
“รัฐบาลอย่าเฉือนเนื้อประชาชนไปให้บริษัทเอกชน” ไม่กี่วันมานี้ พลเอกประยุทธ์กล่าวสุนทรพจน์ว่า รัฐบาลนี้มีนโยบายให้แข่งขันธุรกิจพลังงานเสรี ถ้าเป็นจริง ก็ต้องเริ่มที่ธุรกิจก๊าซ เพราะมีบริษัทหนึ่งที่ผูกขาดทั้งประเทศมานานมากแล้ว ข่าวระบุว่า สหภาพแรงงาน กฟผ. จะยื่นหนังสือคัดค้าน มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ให้ยกเลิกกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี โดยตรง โดย กบง. อ้างเหตุผลว่า การนำเข้าตรง จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นราว 2 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากเกิดปัญหา Take or Pay ผมได้ข้อมูลมาว่า ราคาก๊าซที่ กฟผ. จะนำเข้าเองนั้น ถูกกว่าราคาที่ ปตท. ขาย ดังนั้น ถ้าเปิดให้ กฟผ. นำเข้าเสรี เฉพาะด้านนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์ เพราะต้นทุนผลิตไฟฟ้าจะต่ำลง จึงต้องถามว่า ค่าใช้จ่าย Take or Pay ดังกล่าวนั้น เกิดจากเหตุใด และทำไม กบง. จึงอ้างเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางมิให้ กฟผ. ทำประโยชน์เกิดขึ้นแก่ประชาชน? มีคนอธิบายแก่ผมว่า ค่าใช้จ่ายนี้เกิดจาก ปตท. ไปตกลงปริมาณขั้นต่ำไว้กับผู้ขายในการ์ต้า โดยไปสัญญาว่า ปตท. จะจ่ายตามปริมาณขั้นต่ำ ถึงแม้จะซื้อจริงน้อยกว่า (คือ ถ้าไม่ take ก็ต้อง pay) ถ้าข้อมูลนี้เป็นจริง ก็นับว่าแปลก ที่ผู้ซื้อต้องไปประกันกำไรให้แก่ผู้ขาย ทั้งที่การ์ต้าเป็นผู้ผลิตก๊าซอันดับต้นของโลก ถ้าข้อมูลนี้เป็นจริง การที่ กฟผ. นำเข้าเอง ย่อมกระทบกำไรของ ปตท. เพราะต้องดิ้นรนหาลูกค้าทดแทน หรือไม่ก็ต้องยอม pay แต่ถ้าข้อมูลนี้เป็นจริง ก็เป็นปัญหาที่ ปตท. จะต้องหาทางแก้เอง มิใช่จะผลักภาระมาให้แก่ กฟผ. มิใช่จะผลักปัญหาไปให้ประชาชน และการที่ กบง. มีมติ ปิดประตู ปิดโอกาส ไม่ยอมให้ กฟผ. ซื้อก๊าซที่ราคาถูกกว่า อันอาจมีผลเป็นการปกป้องกำไรให้แก่ ปตท. นั้น ... จะเข้าข่ายเป็นการเฉือนเนื้อประชาชน ไปให้บริษัทเอกชน! ทั้งนี้ต้องคำนึงว่า ผลกำไรของ กฟผ. เป็นของรัฐ 100% จึงเป็นของประชาชน 100% แต่ผลกำไรของ ปตท. นั้น เป็นของกระทรวงคลังเพียง 51% เท่านั้น ผมจึงมีความเห็นว่า การที่ กบง. ให้ความสำคัญแก่ประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเอกชน และประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติ เหนือกว่าประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งมวลนั้น เข้าข่ายผิดกฎหมาย ดังนั้น รมว.พลังงานจึงจำเป็นต้องพิจารณารอบด้าน และอธิบายชี้แจงแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน รวมทั้งสอบสวนเอาผิด กบง. และบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย