ณัฐระวี เดื่อมขันธ์มณี ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2560โดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT พลิกโฉมงานศิลปหัตถกรรมป่านศรนารายณ์ สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย ตอบโจทย์เทรนด์แฟชั่น อวดผลงานสุดเก๋ไก๋ในงาน SACICT Craft Fair 2019 ณัฐระวี เดื่อมขันธ์มณี ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2560กล่าวว่าป่านศรนารายณ์เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีเส้นใยที่มีลักษณะแข็ง เหมาะสำหรับใช้ในการทำอุตสาหกรรมและทำเชือก ซึ่งเป็นพืชที่ประจำท้องถิ่นที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในจังหวัดเพชรบุรี จนเมื่อราว ๆ ปี 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเยี่ยมเยียนราษฎรที่ได้มาอยู่อาศัยในหมู่บ้านหุบกะพง ซึ่งได้พระราชทานที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2507 และได้ทรงมีคำแนะนำให้นำป่านศรนารายณ์มาใช้ประโยชน์ด้านการจักสาน เพื่อเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยใช้เวลาว่างหลังจากเลิกงานด้านการเกษตรแล้ว มาเรียนรู้วิธีการจักสานป่านศรนารายณ์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวนับจากวันนั้นงานศิลปหัตถกรรมจากป่านศรนารายณ์ ก็ได้กลายเป็นมรดกตกทอดทางภูมิปัญญาของครอบครัว จนมาสู่รุ่นของตนเอง ก็ได้มีแนวคิดว่า “จะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น” ประกอบกับความเป็นคนช่างเรียนรู้ ชอบเปิดดูนิตยสารแฟชั่น ดูเทรนด์แฟชั่นต่าง ๆ อยู่เสมอ และได้นำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้รอบตัว มาเป็นไอเดียในงานออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบ ลวดลาย สีสัน โดยนำมาเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ เช่น กระเป๋าเหรียญ กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าถือ หมวก รองเท้า เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่ตระหนักอยู่เสมอ คือ ทุกผลิตภัณฑ์ ทุกชิ้นงานจะต้องชวนให้เกิดความรู้สึกว่า “อยากถือ อยากใช้” และให้ความสำคัญกับการสืบสานงานหัตถศิลป์ของครอบครัว ตลอดจน เป็นคนออกแบบทุกชิ้นงานด้วยตนเองพร้อมทั้งส่งงานให้กับคนในชุมชนได้มีอาชีพ มีรายได้เพิ่มมากขึ้น จนเมื่อปี 2560 ได้รับคัดเลือกให้เป็น “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560” จาก SACICT นับเป็นความภาคภูมิใจของตนเอง และครอบครัว ทั้งยัง เป็นการเปิดโอกาสให้กับผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ได้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้มีโอกาสพบเจอกับกลุ่มลูกค้าโดยตรง ดังเช่น การได้มีโอกาสมาร่วมออกร้านในงาน SACICT Craft Fair 2019ทำให้ได้ พบปะ พูดคุย และทราบถึงความต้องการของลูกค้า เพื่อนำมาปรับพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ ไม่เพียงแค่ สร้างการยอมรับในหมู่ลูกค้าที่ครอบคลุมมากขึ้นแล้ว ยังมีกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่ให้ความสนใจ ตลอดจน ได้รับโอกาสจากห้างร้าน ต่าง ๆ ที่นำผลิตภัณฑ์ไปจัดจำหน่าย ถือเป็นความสำเร็จที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเอง ครอบครัวและชุมชนอย่างยิ่ง “เชื่อว่า คนที่ทำงานหัตถศิลป์ทุกคน คงรู้สึกไม่แตกต่างกัน คือ การมีความสุขที่ได้เห็นคนใช้ผลิตภัณฑ์มีความสุข และชื่นชมผลงานที่สร้างสรรค์ด้วยความรัก ความทุ่มเท และอยากให้ผู้คนหันกลับมามองคุณค่าแห่งงานหัตถศิลป์ไทยที่มีความน่าสนใจ แตกต่าง และที่สำคัญ คือ เป็นงานที่ทำด้วยมือและใจ ความสวยงาม สร้างสรรค์ไม่แพ้ใครอย่างแน่นอน”