ฤาจะเลี่ยงกฎธรรมชาติรัฐบาลผสมไปไม่พ้น สำหรับรัฐบาลประยุทธ์ภาค 2 ที่เริ่มมี “กลิ่นอาย”ของความขัดแย้งโชยออกมาจากกระทรวงหูกวางและกระทรวงพญานาค เพียงแค่กางใบเรือรัฐนาวาแล่นออกจากท่าได้แค่เดือนเศษๆ หลังแถลงนโยบายรัฐบาล ก็ออกอาการกระทบกระทั่งกัน เปรียบเหมือนคู่แต่งงานใหม่อยู่กันได้ไม่นานก็ทำท่าจะหย่ากันเสียแล้ว ดังภาษิตว่า “ก้นหม้อไม่ทันดำ”!! จุดกำเนิดที่เกิดเหตุ รอยร้าวมันมาจากฝั่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ไปแตกดังโพละที่ทำเนียบรัฐบาล กลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เปิดศึก 2 พรรค ระหว่าง มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยจากค่ายภูมิใจไทย กับ “เสี่ยต่อ”เฉลิมชัย ศรีอ่อน จากค่ายประชาธิปัตย์ หลังรายแรกถูกหักดิบชงแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 10เป็นวาระจร ในจำนวนนั้น มีการสลับตำแหน่งระหว่าง พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กับ ปราโมทย์ ยาใจ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ทั้งที่กรมนี้อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีหญิง ทำให้เจ้าตัวถึงกับต้องลุกจากเก้าอี้ไปเคลียร์กับ “เสี่ยต่อ” ทำนองว่าไม่ให้เกียรติ เมื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าค่ายภูมิใจไทยได้ยินเข้าก็ลุกไปแท็กทีมกับ “มนัญญา” ที่สุด “เสี่ยต่อ” ต้องยอมถอย ถอนเรื่องการสลับตำแหน่งดังกล่าวออกไปก่อน งานนี้ต้องบอกว่า “เสี่ยต่อ” เหมือนถูก“หักหน้า”อย่างแรง ด้วยการเข้ามาทำงานในกระทรวง ย่อมต้องวางตัวข้าราชการที่เป็นกลไกแขนขาของตนเอง แม้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์จะสามารถทำงานได้กับนักการเมืองจากทุกพรรคก็ตาม ขณะที่รายงานอีกด้านระบุว่าการวางตัว “ปราโมทย์”เข้ามาเป็นอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์คนใหม่ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีคอนเน็กชั่นกับค่ายภูมิใจไทย และ “เสี่ยต่อ” ได้หารือกับผู้ใหญ่ในพรรคภูมิใจไทยแล้วด้วย แต่มาเกิด เหตุการณ์อุบัติเหตุขึ้นในครม. กระนั้น เมื่อ “มนัญญา”ออกตัวขวางลำเช่นนี้ ทำให้เกิดภาพ “เด็กดื้อ” และทำให้สถานการณ์ในกระทรวงเกษตรฯเขม็งเกลียว ขณะเดียวกัน รอยร้าวปริแยกก็ลุกลามข้ามฝั่งถนนราชดำเนินมาถึงกระทรวงคมนาคม เพียงไม่กี่อึดใจในวันเดียวกันนั้นเอง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากค่ายภูมิใจไทย ก็เซ็นคำสั่งออกมาทันที เป็นหนังสือด่วนที่สุด ที่ คค0100/1421 วันที่ 27 สิงหาคม 2562 ถึงปลัดกระทรวง อธิบดีทุกกรมและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ใจความสำคัญคือ ให้นำเสนอเรื่องต่างๆ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบก่อน ไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ ดังนี้ 1.แผนปฏิบัติการตามนโยบายและโครงการสำคัญเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน 2.การบริหารงานบุคคล การบรรจุ การคัดเลือก การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้น เงินเดือนหรือคำสั่งการออกจากตำแหน่ง สอบสวนวินัยและการลงโทษข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ตำแหน่งนักบริหารระดับสูง นักบริหารระดับต้น และผู้บริหาร รองผู้บริหารและผู้ช่วยผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ 3.การขออนุมัติดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามแผนงานโครงการ ที่มีวงเงินงบประมาณตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป 4.รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 และพ.ศ.2563 ทุกเดือน ภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไป โดยมีเป้าหมายให้ส่วนราชการต้องเบิกจ่ายให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และรัฐวิสาหกิจต้องเบิกจ่ายให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 5.ระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจก่อนการประชุม 7 วันทำการและรายงานการประชุมฯ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมไม่เกิน 7 วันทำการ 6.สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด ขอให้แจ้งบริษัทฯ นำเสนอเรื่องตาม 1-5 ให้ทราบด้วย 7.ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เรียกว่า รัฐมนตรีว่าการขอสแกนทุกเรื่องล่วงหน้า 7 วัน โดยเฉพาะเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และงบประมาณ ที่ส่งผลให้งานจัดซื้อจัดจ้างในหลายโครงการชะงักงัน ทั้งนี้ทั้งนั้น กระทรวงคมนาคมแห่งนี้ ก็มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จากค่ายประชาธิปัตย์ อย่าง ถาวร เสนเนียม อยู่ทั้งคน ขณะที่สัปดาห์ถัดมาในการประชุมครม.วันที่ 3 กันยายน “ศักดิ์สยาม”ก็ชงโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 จำนวน7 คนรวด ได้แก่ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นอธิบดีกรมทางหลวง, นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรมการขนส่งทางบก, นายวิทยา ยาม่วง ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นอธิบดีกรมเจ้าท่า ขณะเดียวกันก็โยกย้ายนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นรองปลัดกระทรวง, นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เป็นรองปลัดกระทรวง, นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน เป็นผู้ตรวจราชการ และนายสมัย โชติสกุล รองปลัดกระทรวง เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง แม้ไม่มีเหตุการณ์ซ้ำรอยกับกระทรวงเกษตรฯ แต่ความนิ่งสงบก็ไม่ได้ทำให้บรรยากาศอึมครึมระหว่างสองพรรคจางลงไป และเชื่อกันว่า “สงครามยังไม่จบ”!! ทว่าไม่ใช่แค่พรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น ที่ออกอาการความสัมพันธ์อักเสบ ในพรรคร่วมฝ่ายค้านเองก็ไม่ราบรื่นเท่าไหร่นัก เมื่อพรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคแกนนำอยู่ในภาวะความหวาดระแวงว่า จะมีพรรคการเมืองขนาดเล็ก “ปันใจ” หรือ “คบซ้อน”กับพรรคร่วมรัฐบาล หรือคนในพรรคของตนเอง ที่อาจจะปฏิบัติการแหกคอก สวนมติพรรคเพื่อหวังให้ขับออกจากพรรคเพื่อจะได้เป็นเหตุผลในการย้ายไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ แต่ล่าสุดเกิดอาการหลอนว่าจะถูกโดดเดี่ยว หลังไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ยื่นยุบพรรคตัวเอง จนนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และสุทิน คลังแสง ต้องแท็กทีมกันออกมา “ตีปลาหน้าไซ” ตีปี๊บข่าวยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยบอกว่าเป็นห่วงหากพรรคถูกยุบ คะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อ อาจถูกนำมาคำนวณใหม่ ที่อาจจะทำให้บางพรรคได้ส.ส.เพิ่มขึ้นอีกถึง 40 คน ทว่าหมากเกมนี้ แทนที่จะสะเทือนพรรคพลังประชารัฐที่วางเกมดดูพลังไดโว่ แต่ดันกลายเป็น “บูมเมอแรง” มาสร้างรอยร้าวปริแยกภายในพรรคร่วมฝ่ายค้านเสียเอง เพราะพรรคอนาคตใหม่ ไม่ขำด้วยกับกระแสข่าวดังกล่าวที่ออกมาสร้างความหวั่นไหว และทำให้คลางแคลงใจกับ “ความหวังดี ประสงค์ร้าย” ของพรรคเพื่อไทย จนพรรณิการ์ วานิช หรือช่อ ออกมาสวนทันควันว่าให้เอาเวลาไปตรวจสอบพฤติกรรมของต่างๆของครม.และงานอภิปรายนายกฯดีกว่า ขณะที่ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ก็บอกขอบคุณในความห่วงใย แต่ยืนยันว่า พรรคอนาคตใหม่เรามีแนวทางของเรา ส่วนตัวเวลาเจอนายสุทิน คลังแสง และนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. พรรคเพื่อไทย ก็ไม่เคยพูดคุยกันเรื่องนี้ ถ้ามาบอกตรงๆ ก็จะเข้าใจว่าท่านหวังดี จนผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทย อย่างภูมิธรรม เวชยชัย ต้องออกมาหย่าศึก ขอโทษแทนส.ส.ในพรรค และยืนยันว่าไม่มีเจตนาร้าย กระนั้น แม้ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ยังจะต้องจับมือกันในการสู้ศึกซักฟอกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปมถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญในวันที่ 18 กันยายนนี้ ที่อาจต้องละวางความกินแหนงแคลงใจไว้ชั่วคราวก็ตาม แต่เมื่อปี่กลองเลือกตั้งท้องถิ่นเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ ก็อาจเผยให้เห็นสงครามที่แท้จริงในเบื้องหน้า เมื่อถึงตอนนั้นคงมันพะยะค่ะ