แม้ถูกยกย่องว่าเป็นเมือง “ผู้ดี” ทว่า ก็มิวายที่จะมีกลุ่มนักการเมืองประเภท “งูเห่า” ที่พร้อมจะแว้งฉก ขบกัด เป็นขบถต่อมติพรรคการเมืองที่ตนสังกัด เหมือนการเมืองในบางประเทศเข้าให้ได้เหมือนกัน สำหรับ การเมืองของประเทศอังกฤษ อันเป็นต้นแบบการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งกำลังตะลุมบอนกันอย่างฝุ่นตลบ ณ เวลานี้ เมื่อปรากฏว่า การลงมติที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. หรือที่ในอังกฤษ เรียกว่า “สภาล่าง (House Common)” ที่ใช้เวลาอภิปราย ราว 3 ชั่วโมง เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งผลการยกมือโหวตที่ออกมา ต้องบอกว่า “ฉีกหน้า” พรรครัฐบาล คือ “พรรคอนุรักษ์นิยม” หรือ “คอนเซอร์เวทีฟ ปาร์ตี (Conservative Party)” ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ “บอริส จอห์นสัน” ให้ต้อง “พ่ายแพ้อย่างไม่เป็นท่า” ต่อพลพรรคฝ่ายค้าน 6 พรรรค ซึ่งนำโดย “พรรคแรงงาน” หรือ “เลเบอร์ ปาร์ตี (Labor Party)” ที่มี “นายเจเรมี คอร์บิน” เป็นหัวหน้าพรรคฯ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ เพื่อลงมติว่าด้วยการการออกจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิต โดยไม่มีข้อตกลงใดๆ ที่อาคารรัฐสภา ในกรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ ด้วยคะแนนเสียงที่ถือได้ว่า “สุดเจ็บแสบ” คือ “328 ต่อ 301 เสียง” ในมติว่าด้วย “ไม่รับข้อเสนอร่างญัตติของนายกรัฐมนตรีจอห์นสัน ที่ต้องการให้แยกประเทศอังกฤษพ้นจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป หรือที่เรียกว่า “เบร็กซิต” อย่างไม่มีข้อตกลง ซึ่งจะครบกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ต.ค. ภายหลังจากชาวเมืองผู้ดีได้ลงประชามติ “เบร็กซิต” ให้แยกตัวพ้นจากอียู ด้วยจำนวนเสียงส่วนใหญ่ เมื่อ 3 ปีก่อน หมายความว่า อังกฤษจะพ้นจากอ้อมอกของสหภาพยุโรป ในสิ้นเดือนหน้านี้ โดยที่ไม่มีข้อตกลงใดมาพ่วงท้าย คือ ออกแล้ว ออกเลย จากอียู นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม ขณะอภิปรายในรัฐสภา โดยคะแนนเสียงของพลพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับการเติมเต็ม 328 เสียง ก็มาจาก ส.ส.ของพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล มาสมทบเพิ่มจำนวนถึง 21 เสียง ซึ่งในจำนวนนี้ มี ส.ส.คนสำคัญของคอนเซอร์เวทีฟปาร์ตีรวมอยู่ด้วย จำนวนไม่น้อย อาทิ “นายเคน คลาร์ก” ซึ่งอดีตเคยดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลังของอังกฤษ” และ “เซอร์นิโคลัส ซอมส์” ส.ส.วัย 71 ปี ซึ่งเป็นหลานชายของอดีตนายกรัฐมนตรีคนดังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 “วินสตัน เชอร์ชิลล์” รวมถึง “นายฟิลลิป ลี” ที่เคยเป็นหนึ่งในผู้ดูแลกระทรวงยุติธรรมของอังกฤษ และเคยตีจากพรรคเสรีประชาธิปไตย มาเข้าพรรคอนุรักษ์นิยม จนทำให้พรรครัฐบาลมีเสียงข้างมากเกินมา 1 เสียง ก็ยังแปรพักตร์จากพรรคอนุรักษ์นิยมไปในท้ายที่สุด นายเจเรมี คอร์บิน ผู้นำฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคแรงงาน อภิปรายในรัฐสภา ถึงขนาดมีคำเย้ยหยันถากถางต่อนายกรัฐมนตรีจอห์นสันว่า เป็น “ความพ่ายแพ้อย่างอัปยศอดสูของผู้นำอังกฤษ” แบบเป็นประเดิมนับตั้งแต่ที่เขานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของเมืองผู้ดีต่อจากนางเทเรซา เมย์ กันมาเลยทีเดียว ซึ่งในระหว่างประกาศผลการนับคะแนนหยั่งเสียงลงมติ ปรากฏว่า ได้มี ส.ส.รายหนึ่งเปล่งตะโกนเสียงแซมออกมาว่า “เริ่มต้นไม่ดีเลยนะ บอริส (Not a good start, Boris)” ทายท้าอย่างไม่ไว้หน้ากันเยี่ยงนี้ ก็มีรายงานกระเส็นกระสายจากพรรครัฐบาลเมืองผู้ดีมาว่า 21 ส.ส.ที่โหวตสวนมติพรรครัฐบาลข้างต้น อาจต้องถูกเตะโด่งพ้นออกจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟไป ซึ่งก็ทำให้บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า หาก ส.ส.ทั้ง 21 คน ไม่สามารถเคลียร์ใจกันภายในพรรค ที่มีนายจอห์นสัน เป็นผู้นำได้นั้น ส.ส.เหล่านี้ หลายคนก็อาจต้องปิดฉากชีวิตนักการเมืองไปเสียก็ได้ ส่วนจะย้ายเข้าไปในพรรคอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายค้าน ก็ต้องบอกว่า เป็นเรื่องยากไม่บันเบา เพราะพรรคฝ่ายค้าน ก็มีสมาชิก ส.ส. เจ้าของพื้นที่เดิมอยู่แล้ว นายฟิลลิป ลี (คนนั่งกลาง) อีกหนึ่ง ส.ส.ผู้แปรพักตร์ ไม่นับเรื่องแนวคิดของบรรดา ส.ส. ทั้ง21 คนเหล่านี้ ก็ได้จัดอยู่ในกลุ่ม “แอนตี - ฮาร์ด เบร็กซิต (Anti - Hard Brexit)” คือ ต่อต้าน หรือคัดค้านการที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลงใดๆ ทั้งนี้ เหล่า ส.ส.กลุ่มต่อต้านฮาร์ดเบร็กซิตดังกล่าว มีความคิดเห็นว่า หากอังกฤษแยกตัวออกมาจากสหภาพยุโรปโดยที่ไม่มีข้อตกลงใดๆ เลยนั้น จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างใหญ่หลวง ถึงขั้นที่เรียกได้ว่า พินาศย่อยยับกันเลยทีเดียวก็ว่าได้ ไม่นับเรื่องปัญหาความชะงักงันด้านต่างๆ เช่น การเดินทาง การลำเลียงขนส่งสินค้า เช่น อาหารและเวชภัณฑ์ต่างๆ เข้ามายังอังกฤษ เป็นต้น ส่งผลให้อังกฤษต้องกลับไปใช้มาตรการคุมเข้มบริเวณพรมแดนไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ กับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ที่ยังเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปอยู่ บริเวณด่านพรมแดนไอร์แลนด์เหนือของอังกฤษ กับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ สมาชิกสหภาพยุโรป ที่จะเป็นปัญหาการเดินทางและการลำเลียงสินค้า โดยชุมชนบริเวณด่านพรมแดนได้คัดค้านเบร็กซิต อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องปัญหาข้างต้น ทางฝ่ายสนับสนุน “ฮาร์ด เบร็กซิต” ซึ่งต้องการให้อังกฤษออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ มีความคิดเห็นแย้งว่า ความชะงักงันและความปั่นป่วนต่างๆ หากเกิดขึ้นจริง ก็จะเป็นในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะเชื่อมั่นว่า อังกฤษมีศักยภาพที่จะสามารถปรับตัวได้ในที่สุด โดยในส่วนของสภาล่างนั้น ที่ ณ เวลานี้ ควบคุมโดย 6 พรรคฝ่ายค้าน ก็เตรียมที่จะออกกฎหมายเพื่อบังคับให้นายกรัฐมนตรีจอห์นสัน ต้องทำเรื่องชะลอการแยกตัวออกจากอียูออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคาปีหน้าต่อไป ซึ่งหากสำเร็จก็ต้องถือเป็นการเลื่อนเบร็กซิตเป็นครั้งที่ 3 ผู้ประท้วงรายหนึ่งชูระเบิดควัน ระหว่างชุมนุมต่อต้านแนวคิดเบร็กซิตแบบไม่มีข้อตกลงใดๆ ของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา กรุงลอนดอน ขณะที่ ในส่วนของนายกรัฐมนตรีจอห์นสัน พลันที่พ่ายแพ้อย่างอัปยศอดสูเป็นประเดิมแรกเริ่มที่ยื่นร่างญัตติต่อสภาล่าง ก็เตรียมที่จะผลักดันให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ คือ ยุบสภาแล้วให้มีการเลือกตั้งกันก่อนกำหนด ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า อาจจะเป็นช่วงกลางเดือน ต.ค. ที่ประชาชนชาวเมืองผู้ดี อาจจะได้ไปใช้สิทธิ์หย่อนบัตรเลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งบรรยากาศก็ต้องบอกว่า น่าจะน้องๆการลงประชามติเบร็กซิตกันใหม่ว่า จะเลือกพรรคสนับสนุนหรือคัดค้านเบร็กซิตอย่างมีข้อตกลงใดๆ หรือไม่ ทั้งนี้ แม้บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า “บอริส จอห์นสัน” เดิมพันสูงไม่น้อยต่อการเลือกตั้งก่อนกำหนดที่อาจจะมีขึ้น ถึงแม้ว่าตามผลโพลล์ที่ออกมาล่าสุด ล้วนชี้นิ้วไปที่ตัวเขาอาจจะได้กลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษต่ออีกสมัยในฐานะชนะเลือกตั้งกันก็ตาม