“สมคิด”การันตีเศรษฐกิจไตรมาส 4 ยังฟื้นตัวได้ รองนายกฯสมคิด ย้ำเศรษฐกิจยุคดิจิตอล ทุกฝ่ายต้องปรับตัวรองรับระบบ AI ระบบ 5G พร้อมจับมือกับ ธ.โลกพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เผยครม.เศรษฐกิจ เตรียมพิจารณา ข้อเสนอ บีโอไอ พัฒนาบุคคลากร แรงจูงใจส่งเสริมการลงทุนรองรับความต้องการของนักลงทุนต่างชาติ เผยการเมืองไทยต้องเข้มแข็ง แม้เป็นรัฐบาลผสม-เสียงปริ่มน้ำ แต่มั่นใจจากผู้นำแต่ละพรรคร่วมขับเคลื่อนนโยบาย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา “อนาคตเศรษฐกิจไทย เรากำหนดได้” จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์”ว่า ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ พรุ่งนี้ บีโอไอเตรียมเสนอแนวทางพัฒนาบุคลากร และการสร้างแรงจูงใจลงทุนรองรับความต้องการของนักลงทุนต่างชาติในการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนในเขตอีอีซี โดยที่ผ่านมาต่างชาติทยอยเข้ามาหารือ เพื่อขยายการลงทุนในประเทศ เพราะต่างชาติมองว่าไทยเป็นศูนย์การลงทุนในอาเซียน อาทิ โตโยต้า หัวเหว่ย Google เกาหลี ตุรกี และอีกหลายประเทศ ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาบุคคลากรรองรับและการจัดแผนพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ จึงมอบหมายให้บีโอไอ,สศช.,ดีอี ร่วมกับผลักดันในการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยมีข้อจำกัด หากเศรษฐกิจไทยเปราะบาง ขาดความมั่นใจ ไม่ยอมใช้จ่าย ไม่ลงทุนย่อมส่งผลกระทบอย่างแน่นอน หากไม่ปฏิรูปจะนำเงินจากไหน ยอมรับว่าคนไทยเสียภาษีบุคคลธรรมดาเพียง 4 ล้านคนจึงควรขยายฐานให้เหมาะสม และการเมืองไทยต้องเข้มแข็ง แม้ว่าเป็นรัฐบาลผสมและเสียงปริ่มน้ำ แต่ยังมั่นใจเพราะ ผู้นำพรรคต่างรู้จักกันร่วมขับเคลื่อนนโยบาย แต่หากคิดห่วงเพียงว่า จะเลือกตั้งในเร็วๆนี้ เพื่อหวังแต่การหาเสียง เศรษฐกิจมีปัญหาแน่นอน จึงขอให้พรรคร่วมได้ร่วมกันผลักดันนโยบายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อีกทั้งมองว่า แนวโน้มข้างหน้าเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ ต้องการให้รู้จักหน้าที่การเข้ามาทำการเมือง เพื่อพัฒนาการเมืองแบบใหม่ๆ คนรุ่นเก่าต้องกลับบ้าน เพื่อให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้ นอกจากนี้เศรษฐกิจยุคดิจิตอลเปลี่ยนแปลงอย่างมาก สังคมหันมาพึ่งพาการค้าขายผ่านออนไลน์มากขึ้น รัฐบาลจึงต้องการผลักดันอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน รองรับชุมชนสื่อสารทางออนไลน์ในทุกด้าน รวมทั้งการเชื่อมระบบรับ จ่ายเงิน เพื่อดึงทุกด้านเข้าสู่ระบบ อีกทั้งยังต้องการสร้างแรงจูงใจดึงดูดนักลงทุน มาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ภายใน 5 ปี ระบบ AI ระบบ 5G เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ต้องเตรียมรับมือ เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ก้าวล้ำหน้ามากควรดึงมาใช้ในการปรับแผนธุรกิจ จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ท่ามกลางความท้ายทายสิ่งใหม่ๆจากปัจจัยภายนอกประเทศ จึงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น ผ่านการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะมีความสำคัญ เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกสูงร้อยละ 70 ไทยมุ่งลงทุนเพื่อการส่งออก หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจึงมีความเสี่ยง เพราะสัดส่วนที่เหลือร้อยละ 30 เป็นภาคเกษตรที่มีอำนาจซื้อน้อย โดยมองว่าจีดีพีไตรมาส 4 จะฟื้นตัวขึ้นมาได้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยรัฐบาลจึงต้องการส่งเสริมสมาร์ทฟาร์มเมอร์ สร้างคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ จึงต้องการใช้ ธ.ก.ส. เป็นหัวขบวนในการพัฒนาชุมชน เพื่อให้ฐานรากเข้มแข็ง สำหรับการหารือกับนางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก นับว่าองค์กรต่างประเทศมีความเชื่อมั่นต่อฐานเศรษฐกิจไทย แม้ในช่วงสั้นจะมีปัญหาชะลอตัว จึงต้องการเข้ามาร่วมกับไทย ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจหลายด้าน รองรับไทยแลนด์ 4.0 และการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจน มอบหมายให้นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขาธิการรองนายกรัฐมนตรีประสานกระทรวงคลัง,สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมผลักดันโครงการร่วมกับธนาคารโลกเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม