พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยราษฎรในการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพเพื่อนำสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและด้วยตั้งพระราชหฤทัยสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลบยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเพื่อประโยชน์สุขแก่ราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดูแลความทุกข์สุขเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วย นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี และคณะอนุกรรมการฯ สนองพระมหากรุณาธิคุณลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปถึงสถานการณ์น้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ที่เป็นการปัจจุบัน เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของประเทศไทยต่อจากเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก สร้างปิดกั้นแม่น้ำพองอยู่ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่นประมาณ50 กิโลเมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าโดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 55 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังสร้างประโยชน์ด้านชลประทานและการเกษตร โดยน้ำที่ปล่อยผ่านการผลิตไฟฟ้าแล้วจะส่งเข้าสู่ระบบชลประทานเพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 300,000 ไร่ ทำให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง เป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ที่สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องตลอดมา และสามารถบรรเทาภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันในช่วงฤดูฝนบริเวณแนวฝั่งลำน้ำพองถึงแม่น้ำชีให้ลดน้อยลงได้เป็นอย่างดีอีกด้วย โอกาสนี้ องคมนตรีและคณะได้เดินทางไปยังโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำตำบลบ้านดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 โดยนายเจริญ รังสีปัญญา ประธานกลุ่มเกษตรกรตำบลบ้างดงและตำบลนาคำ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ได้ขอพระราชทานโครงการชลประทานระบบท่อส่งน้ำเพื่อเกษตรยั่งยืนตามแนว “ทฤษฎีใหม่” และแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นที่สูง การนี้ องคมนตรีได้พบปะเยี่ยมราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ และรับฟังข้อมูลในการดำเนินงานจากราษฎร พบว่าในการบริหารจัดการน้ำของโครงการ ราษฎรมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนในนามกลุ่มผู้ใช้น้ำพื้นฐานซึ่งมีมากถึง 20 กลุ่ม แบ่งตามพื้นที่การใช้น้ำในแต่ละบ่อพักน้ำ โดยแต่ละกลุ่มจะมีตัวแทนร่วมกันกำหนดกฎกติกาในการใช้น้ำ พร้อมจัดกิจกรรมรวมกลุ่มปลูกพืชผักของสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ตามเส้นทางส่งน้ำตลอดแนว ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกที่ต่างคนต่างทำ มาเป็นการรวมกลุ่มผลิตและทำการตลาดร่วมกัน ซึ่งสามารถต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางได้เป็นอย่างดี ทำให้ผลผลิตไม่ถูกกดราคาและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น สิบตำรวจเอก สมัย สายอ่อนตา ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานชลประทานระบบท่อบ้านหนองแต้ เปิดเผยว่า โครงการนี้ได้เข้ามาช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ด้านการอุปโภคและบริโภคได้มาก ทำให้สามารถเพาะปลูกพืชผักได้หลากหลายและผลผลิตสมบูรณ์ตรงตามความต้องการของตลาด ทำให้ขายได้ดีและต่อเนื่องจากที่เป็นอาชีพเสริมมาเป็นอาชีพหลักในปัจจุบัน ซึ่งน้ำที่ได้จากโครงการนอกจากจะนำมาใช้ในการทำสวนและทำนาแล้ว ยังเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชผักได้ตลอดทั้งปี “ผักที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นมะเขือ พริก ตะไคร้ และต้นหอม ซึ่งเป็นพืชที่ผู้บริโภคต้องการใช้ในครัวเรือแบบรายวัน ซึ่งทางห้างสรรพสินค้าในพื้นที่จะเข้ามารับซื้อทั้งหมดแบบวันต่อวัน ผู้บริโภคก็จะได้ผักที่สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมีไปบริโภคทุกวัน พื้นที่ในการเพาะปลูกของเกษตรกรรวมกันแล้วอยู่ที่ประมาณ 615 ไร่ ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ มีสมาชิก 35 ราย และรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน มีการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการในการผลิตและทำการตลาด เป็นการทำงานแบบกลุ่มเกษตรกรในฐานะผู้ผลิต ที่สำคัญเมื่อเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้วตลาดจะให้การยอมรับ เพราะสามารถออกหลักฐานทางการขายที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือใบสำคัญรับเงินให้กับผู้ซื้อโดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าได้ ทำให้ทางห้างสรรพสินค้าสะดวกในการนำไปเป็นเอกสารทางบัญชีต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต่างจากการจำหน่ายแบบรายบุคคลของเกษตรกรที่ผ่านมาที่ไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินได้” สิบตำรวจเอก สมัย สายอ่อนตา กล่าว สำหรับสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำตำบลบ้านดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะใช้แหล่งน้ำต้นทุนจากท้ายน้ำอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ โดยสูบน้ำจำนวน 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ปัจจุบันโครงการดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 96.58 % คงเหลือกการก่อสร้างอาคารควบคุมประตูระบายน้ำ อาคารท้ายท่อ ซึ่งจะแล้วเสร็จทั้งระบบในปี 2562 นี้ เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก 15,000 ไร่ จัดหาน้ำเพื่อการอุปโภค - บริโภคให้กับราษฎรจำนวน 2,469 ครัวเรือน และราษฎรในพื้นที่จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูก จากเดิมที่นิยมปลูกยูคาลิปตัส มันสำปะหลัง และอ้อย มาเป็นการปลูกพืชผักสวนครัว เช่น กะเพรา โหระพา ผักบุ้ง มะเขือ ต้นหอม และตะไคร้ ในรูปแบบกลุ่ม ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น