กรมชลฯ แจ้งด่วนเพิ่มระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เย็นวันนี้ อัตรา750ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลพื้นที่ลุ่มหลายอำเภอ จ.อ่างทอง-อยุธยาแนวแม่น้ำน้อย น้ำท่วมพื้นที่ 10-20 ซม. เร่งตัดยอดน้ำเหนือเข้าบึงบอระเพ็ด เมื่อวันที่ 4 ก.ย. นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้แจ้งเตือนจังหวัด 7 จังหวัดแนวสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในช่วงเวลา 6 โมงเย็น (18.00น.) วันนี้ (4 ก.ย.62) เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จะระบายน้ำเพิ่มเป็น 750 ลบ.ม./วินาที ส่งผลทำให้แม่น้ำน้อย บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล ต.หัวเวียง ต.บ้านกระทุ่ม อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำจะเริ่มเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำระดับน้ำจะสูงประมาณ 10-20 ซม. “ก่อนหน้านี้ ได้ประสานกับทางจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และ ลพบุรี ทำการประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อยด้านท้ายประตูระบายน้ำผักไห่ ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรับข่าวสารจากทางราชการเท่านั้น หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร. 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา”อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว ด้าน นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท กล่าวว่า ในอีก 3 วันข้างหน้าสถานการณ์น้ำเหนือที่จะไหลมาสมทบที่จ.นครสวรรค์ในวันที่ 7 ก.ย.นี้ โดยคาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากขณะนี้ ที่สถานีวัดน้ำ C 2 อำเภอชุมแสงเช้านี้ 1,227 ลูกบาศก์เมตร (ลบ. ม.) /วินาที เป็น 1,340 ลบ. ม./วินาที ทั้งนี้จากมวลน้ำเหนือในแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมยังมีปริมาตรมากอยู่ ดังนั้นจึงตัดสินใจผันน้ำบางส่วนเข้าจากแม่น้ำน่านเข้าไปเก็บกักในบึงบอระเพ็ด เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งเป็นการลดปริมาตรน้ำหลากและทำให้น้ำในบึงบอระเพ็ดมีเพิ่มขึ้น ดีทั้งต่อการแพร่ขยายพันธุ์สัตว์น้ำและรักษาระบบนิเวศ นายสุรชาติ กล่าวว่า ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ตั้งแต่เที่ยงวันนี้ได้ปล่อยระบาย 700 กว่าลบ. ม./วินาที ทั้งนี้ปริมาตรน้ำที่มาถึงจ.นครสวรรค์อีก 3 วันข้างหน้าอยู่ที่อัตรา 1,340 ลบ. ม./วินาที เมื่อแบ่งน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง เหนือเขื่อนเจ้าพระยาแล้ว ต้องระบายน้ำท้ายเขื่อน 800 ลบ. ม./วินาที จึงต้องตัดยอดแบ่งน้ำเข้าเก็บกักในบึงบอระเพ็ดจะช่วยลดปริมาตรน้ำที่จะมาถึงเขื่อนเจ้าพระยาลงได้ ซึ่งทำให้คุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนจะอยู่ที่ 700 กว่าลบ. ม./วินาที เป็นไปตามข้อสั่งการของนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ที่ให้บริหารจัดการแบ่งน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานตามศักยภาพการรับน้ำและลดผลกระทบน้ำท่วมกับจังหวัดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ท้ายเขื่อนให้มากที่สุด พร้อมกับได้เพิ่มความถี่ในการตรวจความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทานต่างๆ ทั้งเขื่อนเจ้าพระยา อ่างเก็บน้ำของเขื่อนในความรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 12 ประตูระบายน้ำ และคลองส่งน้ำต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติในฤดูน้ำหลาก ซึ่งพบว่า อาคารชลประทานทุกแห่งมั่นคงแข็งแรงดี ขณะที่ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ระบุว่า ยังมีสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมรวม 13 จังหวัด ได้แก่จังหวัดพิจิตร อุตรดิตถ์ สุโขทัย ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี อํานาจเจริญ สกลนคร และนครพนม มีพื้นที่เกษตร ชุมชน ได้รับหากผลกระทบ กว่า5แสนไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่มีฝนมาเติมสถานการณคลี่คลายภายใน5-7วัน โดยเร่งระบายลงแม่น้ำโขง รวมทั้งอิทธิพลพายุ คาจิกิ ในทะเลจีนใต้ อ่อนกำลังลง และไม่เข้าประเทศไทย สำหรับสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แพร่ น่าน ลําปาง แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก ชัยภูมิ นครราชสีมา มุกดาหาร สระแก้ว ชุมพร และระนอง