“กกร.”รับเศรษฐกิจไทยปีนี้โตต่ำกว่าเป้าหมาย ระบุมีปัจจัยกดดันจากสงครามการค้า- Brexit-เงินบาทแข็ง ฉุดส่งออกและท่องเที่ยววูบ ลุ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลพยุงการเติบโตครึ่งหลังของปี-จี้ภาครัฐดูแลค่าเงินบาท ห่วงจีดีพีหลุดกรอบ2.9-3.3% นายปรีดี ดาวฉาย สมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ว่า ที่ประชุม กกร.มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังขาดปัจจัยหนุน และมีโอกาสมากขึ้นทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยจีดีพีคาดการณ์จะอยู่ที่ร้อยละ 2.9-3.3 ตัวเลขส่งออกอยู่ที่ติดลบร้อยละ 1-1 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.8-1.2 โดยข้อกังวลมีหลายเรื่องโดยเฉพาะเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นอีก หากธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกในช่วงข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของการส่งออกและการลงทุนของไทย จึงอยากให้ทางการออกมาตรการเพื่อดูแลการแข็งค่าของเงินบาทโดยเร็ว ทั้งนี้ กกร.จะติดตามและทบทวนประมาณการเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆอีกครั้งในเดือนหน้า แต่ยอมรับว่าปัญหาค่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก และมีการพูดคุยและหารือกับทุกส่วนงาน จึงอยากให้ภาครัฐที่กำกับดูแลต้องให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น เพราะผลกระทบจะเป็นวงกว้าง และเรียกร้องให้ภาครัฐหันมาดูแลในเชิงลึก เพื่อลดผลกระทบให้กับภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ในการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจเดือนก.ค.62 ซึ่งเป็นเดือนแรกของช่วงครึ่งปีหลังแรงส่งเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแรงต่อเนื่อง สะท้อนจากการส่งออกที่ไม่รวมทองคำยังคงหดตัว ส่งผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การลงทุนทรงตัว ส่วนการบริโภคภาคเอกชนแผ่วลงจากช่วงครึ่งปีแรก และแม้การท่องเที่ยวจะขยายตัว แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน “มองไปในช่วงที่เหลือของปี 2562 เศรษฐกิจไทยยังอยู่ท่ามกลางปัจจัยกดดัน ทั้งจากภาคต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และปัญหาการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลี ความเสี่ยงจากประเด็น Brexit รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ที่ล้วนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ขณะเดียวกันการใช้จ่ายภายในประเทศก็ถูกกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และล่าสุดเหตุการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ทั้งนี้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชิม ช้อป ใช้ รวมถึงมาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตรสำคัญๆอาจมีแรงบวกที่จะสามารถชดเชยผลกระทบจากหลายปัจจัยกดดันข้างต้น นอกจากนี้ อานิสงส์จากการที่ภาครัฐเตรียมจะออกมาตรการเพื่อดึงดูดการย้ายฐานการลงทุนจากผลกระทบเรื่องสงครามการค้าก็อาจต้องใช้เวลา และคงจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานและแรงจูงใจที่มากพอสำหรับนักลงทุน รวมถึงประเด็นเรื่องค่าเงินด้วย