กต.มีความเห็นรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2559-2560 ของนิรโทษกรรมสากล ไม่ได้สะท้อนพัฒนาการของสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างครอบคลุม ชี้รัฐบาลยึดมั่นโรดแมปสู่ประชาธิปไตย มุ่งสร้างความปรองดอง สังคมมีเสถียรภาพ ให้เสรีภาพในการแสดงความเห็น ขณะที่ ม.112 เพื่อรักษาความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ปฏิรูปกฎหมาย และระบบยุติธรรม ยืนยันคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตามกรอบของกฎหมาย เมื่อวันที่ 22กุมภาพันธ์ 60 จากกรณีที่องค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ (Non- Governmental Organisation - NGO) ได้เผยแพร่รายงานด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก (The Stateof the World’s Human Rights) ประจำปี 2559 - 2560โดยรวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี ๒๕๕๙ ของ 159 ประเทศใน 5 ภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของรายงาน ดังกล่าว โดย กระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความเห็นว่า รายงานยังไม่ได้สะท้อนถึงพัฒนาการในประเทศไทยอย่างครอบคลุม ซึ่งรัฐบาลไทยยึดมั่นดำเนินการตาม Roadmap เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง สังคมที่ปรองดองและบ้านเมืองที่มีเสถียรภาพอย่างยั่งยืนซึ่งขณะนี้การดำเนินการมีความคืบหน้าตามลำดับ โดยกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ และการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ได้เปิดให้ประชาชนและทุกภาคส่วน ทั้งภาควิชาการ สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมายผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง อาทิ การอภิปราย และการเสวนาทั่วประเทศ ซึ่งผลการออกเสียงประชามติเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างครอบคลุม ขณะเดียวกันยืนยันว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิบัติสากล ดังเห็นได้ว่าสื่อมวลชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเสรี อย่างไรก็ดี มีความจำเป็นต้องคำนึงถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันความแตกแยกในสังคมด้วย โดยการใช้สิทธิดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย และความสงบเรียบร้อยในสังคม และต้องไม่ละเมิดสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่นตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 19 (3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นเป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากการกระทำฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย ในลักษณะเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทที่ให้ความคุ้มครองบุคคลทั่วไป เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการริดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมิได้มีแรงจูงใจทางการเมืองแต่อย่างใด นอกจากนี้ การดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังมีกระบวนการพิจารณาคดีอันควรแห่งกฎหมาย (due legal process) เหมือนกับคดีอาญาโดยทั่วไป โดยจำเลยมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีและได้รับการพิจารณาอย่างเที่ยงธรรม และผู้ที่ถูกพิพากษาให้มีความผิดตามกฎหมายดังกล่าวมีสิทธิในการอุทธรณ์และขอพระราชทานอภัยโทษ เฉกเช่นเดียวกับความผิดอาญาอื่น ๆ ในส่วนประเด็นระบบยุติธรรม รัฐบาลได้ปฏิรูปกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่สั่งสมมานาน รวมถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำและสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบันได้ประกาศใช้แล้วจำนวนมากกว่า 190 ฉบับ นอกจากนั้น เมื่อสถานการณ์ในประเทศมีความสงบเรียบร้อยขึ้นตามลำดับ หัวหน้า คสช. ได้มีคำสั่งที่ 55/2559 ลงวันที่ 12 กันยายน 2559 กำหนดให้การกระทำความผิดที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหารบางประเภทกลับไปอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการผ่อนคลายมาตรการด้านความมั่นคงเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน ขณะที่ ประเด็นการปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นั้น บุคคลกลุ่มดังกล่าวได้รับความคุ้มครองจากการพิจารณาคดีด้วยความเที่ยงธรรมของศาลเท่าเทียมกับบุคคลทุกกลุ่ม โดยในกรณีของนายแอนดี้ ฮอลล์ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องนาย ฮอลล์ กรณีถูกบริษัท Natural Fruit ฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาจากการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอัลจาซีรา นอกจากนั้น ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for Protection of All Persons from Enforced Disappearance - ICPPED) เมื่อปี 2555และอยู่ระหว่างออกกฎหมายภายในเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว กล่าวคือ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... ซึ่งปัจจุบัน ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนประเด็นผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงมีความคืบหน้าที่สำคัญ โดยเฉพาะในประเด็นผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา โดยภายหลังจากที่เมียนมามีพัฒนาการทางการเมืองในเชิงบวกรัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมาและสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees – UNHCR) ในการอำนวยความสะดวกส่งผู้หนีภัยการสู้รบชาวเมียนมา จำนวน71 คน กลับประเทศด้วยความสมัครใจในเดือน ต.ค. 2559 โดยคณะทำงานร่วม ซึ่งมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วม จะพบเพื่อหารือเกี่ยวกับการส่งผู้หนีภัย การสู้รบ ที่ยังตกค้างอีก 102,000คน กลับประเทศ ซึ่ง UNHCR จะให้ความช่วยเหลือในการส่งกลับด้วย ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวจะช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับทุกฝ่ายเพื่อให้การส่งกลับผู้หนีภัยการสู้รบและการนำผู้หนีภัยการสู้รบกลับคืนสู่สังคมอย่างถาวรเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเสรีภาพของประชาชนอย่างครอบคลุม ตราบที่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยมุ่งมั่นในการปฏิรูปกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ในการนี้ รัฐบาลยินดีรับฟังความห่วงกังวลของทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาสังคม และมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือที่สร้างสรรค์และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีรอบด้านและสมดุล เพื่อจะช่วยส่งเสริมการดำเนินการเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป