เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.63 เป็นต้นไป ทั้งครอบคลุมถึงครูที่ลาออกไปใช้สิทธิ 30 บาท สามารถกลับมาใช้สิทธิกองทุนนี้ได้ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ ครั้งที่ 7/2562 ว่า จากที่ได้ลงพื้นที่รับฟังแนวทางการทำงาน รับทราบถึงปัญหาต่างๆ ของหน่วยงานที่อยู่ในกำกับดูแลหลายประการ และปัญหาค่ารักษาพยาบาลครูเอกชนถูกเสนอแนะให้ช่วยแก้ปัญหามากที่สุด ซึ่งค่ารักษาพยาบาลครูเอกชน ที่มีเพดานอยู่เพียง 100,000 บาท ทำให้ครูเอกชนเดือดร้อนอย่างมาก ส่งผลให้ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคหัวใจ ฯลฯ เดือดร้อนค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้วงเงินค่ารักษาที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ครูโรงเรียนเอกชนบางส่วนที่จำเป็นต้องใช้ค่ารักษาพยาบาลเกินปีละ 100,000 บาท ต้องลาออกเพื่อไปใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทบต่อขวัญกำลังใจครูโรงเรียนเอกชน ทั้งนี้ สช. และ กองทุนสงเคราะห์เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีหน้าที่จัดสวัสดิการให้ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาประกอบด้วยเงินที่ครู (ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา) ส่งเข้ากองทุนร้อยละ 3 ของเงินเดือน เงินที่โรงเรียนส่งเข้ากองทุน (ร้อยละ 3 ของเงินเดือนครู) เงินสมทบที่กระทรวงศึกษาธิการส่งสมทบ (ร้อยละ 6 ของเงินเดือนครู) โดยนำดอกผลที่เกิดจากเงินส่วนนี้ มาจัดสวัสดิการให้ครู มีมติเห็นชอบเพิ่มเพดานการเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชน ไม่เกินคนละ 100,000 บาทต่อคนต่อปี มาเป็น 150,000 บาทต่อคนต่อปี มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.63 และครูที่ลาออกไปใช้สิทธิสวัสดิการบัตรทอง ก็สามารถของกลับเข้ามาใช้สิทธิของกองทุนฯ ได้