นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องเขินหรือ งานหัตถกรรมเครื่องเขินของภาคเหนือเป็นงานหัตถกรรมที่มีอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงมายาวนาน แต่ในปัจจุบันยังไม่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากงานหัตถกรรมเครื่องเขินมีกรรมวิธีที่ซับซ้อนใช้ระยะเวลานาน จึงมีการผลิตเพื่อใช้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้ จัดงาน “lifestyle Lacquerware 2019” กระดับหัตถกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับรู้และรักษาภูมิปัญญาเครื่องเขินล้านนาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เครื่องเขินให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน และเกิดการคิดค้นการใช้งานรูปแบบใหม่ที่ผลิตภัณฑ์เดิมไม่เคยทำมาก่อน (New Usage) หรือ สร้างคุณค่าใหม่ (New Value) ในสายตาของกลุ่มลูกค้าในตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพ (Potential Market) โดยมีการรวบรวมองค์ความรู้และบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านหัตถกรรมเครื่องเขินมาถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบแก่ผู้ประกอบการรวมถึงให้คาปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านการออกแบบและพัฒนาหัตถกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์พร้อมการจัดกิจกรรมทดสอบตลาดเพื่อเชื่อมโยงธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีการประกวดผลิตภัณฑ์เครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ โดยได้มอบโล่รางวัลและใบประกาศผู้ชนะการประกวดผลิตภัณฑ์เครื่องเขินเมื่อเร็วๆนี้ "ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องเขินไทยมีมูลค่าการค้ากว่า 1.94 ล้านล้านบาท ซึ่งการจัดงาน “lifestyle Lacquerware 2019” ครั้งนี้ จะเป็นการสร้างกระแสการรับรู้งานหัตถกรรมเครื่องเขินให้เป็นที่รู้จัก อย่างแพร่หลายและเป็นไลฟ์สไตล์ต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการสืบสานต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยให้มีสืบต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน" นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย