“วชิระ นกอักษร” ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 นำคุณค่าแห่งงานหัตถศิลป์ สะท้อนอัตลักษณ์ไทย ในงานSACICT Craft Fair 2019 เผยมรดกล้ำค่าแห่งภูมิปัญญา ที่สามารถปรับประยุกต์รูปแบบให้ร่วมสมัย ตอบโจทย์ยุคปัจจุบัน งานศิลปหัตถกรรมเครื่องถมนคร มีต้นกำเนิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเนื่องจากเป็นชิ้นงานที่นำไปใช้สำหรับเป็นเครื่องราชูปโภคและเครื่องบรรณาการต่างๆ ที่ถือว่าเป็นงานเชิงช่างชั้นสูง โดยเครื่องถมของไทยถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ถมดำ หรือ ถมเงิน เป็นการทำเครื่องถมที่เก่าที่สุด ถมทอง ใช้ทองเปียกซึ่งเป็นแผ่นทองบดละเอียดผสมปรอทบริสุทธิ์แล้วนำมาทาแทนที่เงินถมตะทอง ใช้ทองเปียกซึ่งเป็นแผ่นทองบดละเอียดผสมปรอทบริสุทธิ์แล้วนำมาทาหรือแต้มลายที่ต้องการ ทำให้เกิดเป็นลวดลายสลับเงิน และทอง ซึ่งนอกจากจะเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่ทรงคุณค่าแล้ว ยังมีการปรับประยุกต์ให้ชิ้นงานสามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตผู้คนได้อย่างลงตัว โดย นายวชิระ นกอักษร ทายาทแห่งงานเครื่องถมที่สืบทอดมาจากรุ่นพ่อคือ ครูนิคม นกอักษร ที่สานต่องานเครื่องถมนครฯอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังได้รับการเชิดชูจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ให้เป็น “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557” นอกจากนี้ SACICT ยังได้นำผลงานศิลปหัตถกรรมเครื่องถมนครมาจัดแสดงและจัดจำหน่ายในงาน SACICT Craft Fair 2019 ที่เพิ่งจะจัดขึ้น ส่งผลให้งานศิลปหัตถกรรมเครืองถมนครไทยเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น วชิระ นกอักษร ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 กล่าวว่า กรรมวิธีการทำเครื่องถมต้องอาศัยความสร้างสรรค์ละเอียดลออ ในทุกขั้นตอน ประกอบด้วย 1.การขึ้นรูป2.การออกแบบลวดลาย 3.สลักลาย4.การลงยาถม5.ถมทอง และ6.เพลาลาย โดยปัจจุบันได้มีการประยุกต์รูปแบบให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้งานศิลปหัตถกรรมสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง เมื่อได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับครอบครัว SACICTก็ทำให้ได้ร่วมออกงานต่างๆมากมาย ซึ่งมีโอกาสได้พบเจอกับกลุ่มลูกค้าโดยตรง ได้ร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างครูช่างด้วยกัน นับว่าเป็นโอกาสที่ดี ในการนำเอาสิ่งต่าง ๆ รอบตัวไปพัฒนาชิ้นงานศิลปหัตถกรรมให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างตอบโจทย์ ครอบคลุมซึ่งเชื่อว่างานศิลปหัตถกรรมจะคงอยู่ตลอดไปได้นั้น ช่างศิลปหัตถกรรม ต้องสามารถสร้างสรรค์งานศิลป์ให้เข้าถึงผู้คน ได้ซื้อ ได้ใช้ ได้ชื่นชม สิ่งเหล่านี้จะเป็นการช่วยให้งานศิลปหัตถกรรมไทยคงอยู่สืบไป