คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ” “จับฝ้ายเป็นมัด มาคัดเรียงเส้น ย้อมด้วยใจเย็น ค่อยเห็นเป็นไป กะเพรา ใบสัก ใช้หมักต้มใส่ เกิดสีเส้นใย สวยใสงามตา จัดเป็นผ้าทอ ก่อผืนล้ำค่า โยงเส้นฝ้ายมา ผูกต่อทอใจ” “ทักษะอาชีพดี มีคุณธรรม” อัตลักษณ์ที่แสดงให้เห็นความเป็นตัวตนของโรงเรียนบ้านยะพอ เน้นให้นักเรียนมีทักษะอาชีพที่ดี บนพื้นฐานของความมีคุณธรรม โดยน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของในหลวงรัชกาลที่ 10 มีอาชีพ มีงานทำ และที่สำคัญทางโรงเรียนได้เล็งเห็นความสำคัญของวัฒนธรรม และการสานต่อของภูมิปัญญาในท้องถิ่น ซึ่งก็คือ “การทอผ้า” ตามวิถีของชาว ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ซึ่งสอดคล้องตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเน้นเสมอว่าการพัฒนาหรือการดำเนินการอะไรก็ตาม ต้องยึดหลักสำคัญคือให้สอดคล้องกับภูมิสังคม คือ ทั้งในด้านพื้นที่ดิน ด้านสังคมวิทยา ที่เกี่ยวกับนิสัยใจคอและพื้นฐานทางวัฒนธรรมของคนในพื้นที่เป็นหลัก นอกไปจากนี้ยังทรงอธิบายอีกว่า การพัฒนาไม่ใช่การสร้างสิ่งใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการรักษาสิ่งดีๆที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ด้วย สุวิชชาภรณ์ กฤตยาเกียรณ ผอ.โรงเรียนบ้านยะพอ เปิดเผยว่า “ทางโรงเรียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับนักเรียนยากจนพิเศษ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทำให้ได้ต่อยอดโครงการพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียนขึ้นอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม ในส่วนตัวของดิฉันเอง ได้มองถึงจุดแข็งและโอกาสของทางโรงเรียนที่มีอยู่ นั่นก็คือนักเรียนเป็นชนเผ่าปกาเกอญอและส่วนใหญ่ทอผ้าเป็น เนื่องจากผู้ปกครองต้องทอผ้าใส่เองและทอให้บุตรหลานใส่ จึงเกิดการเรียนรู้ตามวิถีภายในครอบครัว โรงเรียนจึงมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะที่สามารถนำเอาความรู้ที่มีอยู่ไปประกอบอาชีพได้ โดยที่จะต้องคงความเป็นเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของชาวปกาเกอญอ แต่อีกนัยหนึ่งก็ต้องให้เข้ากับยุคสมัย เมื่อได้แนวคิดแล้ว ทางโรงเรียนจึงได้จัดให้มีโครงการพัฒนาทักษะอาชีพ “ผ้าทอ ปกาเกอญอ” โดยเริ่มตั้งแต่การปลูกพืชเพื่อนำมาทำน้ำย้อม การย้อมเส้นฝ้าย การทอ การแปรรูปและการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นค่ะ” ผอ.กล่าว ครูนุกนิก ณฐพร มูลวงษ์ และ ครูบุ๋ม รัตนาภรณ์ ลังกาวงศ์ ครูผู้สอนเล่าว่า “จุดเริ่มต้นของการทอผ้าปกาเกอญอกันเชื้อรา ของนักเรียนโรงเรียนบ้านยะพอนั้น เริ่มจากการพบกับปัญหาใกล้ตัวของตนเอง จากการใช้ชีวิตในบ้านพักครู คือในช่วงฤดูฝนจะมีความชื้นเกิดตามผนังบ้านพัก ส่งผลให้มีเชื้อราขึ้นตามผนังและขึ้นตามเสื้อผ้า เป็นจำนวนมาก ในชั่วโมงสอนรายวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมในระดับมัธยมต้น จึงมีการสนทนาเรื่องนี้กับนักเรียนถึงปัญหาที่พบและสอบถามว่านักเรียนพบเจอกับปัญหาดังกล่าวหรือไม่ และนักเรียนมีแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่บทเรียนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ในขั้นการระบุปัญหาและการหาแนวทางการแก้ไข ซึ่งด้วยวัฒนธรรมคนชาวปกาเกอญอแล้วจะมีการสวมใส่เสื้อ หรือผ้าถุงที่ทอมาจากเส้นฝ้าย ที่เป็นวัตถุดิบที่เชื้อราขึ้นได้ง่าย ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับนักเรียนจึงได้สืบค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาเชื้อราดังกล่าว โดยจากการสืบค้นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยหลายแห่งพบว่า ในใบกะเพรามีสาร eugenol ในน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียจำพวก Aspergillus Fumigatus หรือเชื้อราที่เกิดขึ้นบนผ้าได้ จึงได้ใช้เป็นตัวอย่างโครงงานเพื่อใช้สอนในรายวิชาวิทยาศาสตร์ โดยการนำใบกะเพรามาย้อมเส้นฝ้ายแล้วนำไปทอด้วยกรรมวิธีของชาวปกาเกอญอในหมู่บ้าน จนได้เป็นผืนและลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งวิถีชีวิตและการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวปกาเกอญอที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ จากแนวคิดที่กล่าวมา จึงเกิดเป็นโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าทอปกาเกอญอกันเชื้อรา โดยใช้เวลาในส่วนของกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ รับสมัครนักเรียนที่มีความสนใจซึ่งทางเราถือว่าเป็นการจุดประกายความคิดในด้านการแนะแนวอาชีพเพื่อการมีงานทำไปในตัวด้วย มีการขอความอนุเคราะห์วิทยากรเพื่อจัดอบรมการตัดเย็บกระเป๋า รวมถึงแนวทางในการหาตลาดเพื่อจัดจำหน่ายสินค้า นักเรียนสามารถช่วยกันออกแบบกระเป๋าหรือเครื่องแต่งกายในแบบที่ตนเองชอบ ได้เห็นแบบของกระเป๋าแต่ละแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในการต่อยอดความคิด ซึ่งเรามองว่าสิ่งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการให้นักเรียนได้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นอย่างแท้จริง เด็กหญิงลัดดาวรรณ ฤชุพิชิตโชคชัย นักเรียนชั้น ม.2 เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า “รู้สึกดีใจที่ได้มาฝึกการทอผ้าด้วยเครื่อง เพราะที่บ้านจะมีแต่ การทอด้วยกี่เอว ทีแรกก็ยาก แต่เมื่อได้เรียนรู้ก็สามารถทำได้ หนูจะนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ หนูอยากพัฒนาบ้านเรา สร้างงานสร้างอาชีพให้คนในหมู่บ้านอยู่ดีกินดี ส่วนตัวรู้สึกรัก และผูกพันกับโรงเรียนนี้ โรงเรียนแห่งนี้ทำให้หนูมีความรู้เยอะแยะ และก็ให้หนูใช้ชีวิตในสังคมได้ เด็กหญิงณัฐลิกา (ไม่มีนามสกุล) นักเรียนชั้น ม.2 กล่าวว่า ได้เรียนรู้ตัดเย็บกระเป๋า เสื้อผ้า มีครูบุ๋มและครูข้างนอกมาสอนพวกเรา ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์จนถึงการตัดเย็บ รู้สึกภูมิใจที่ทำสำเร็จ และดีใจที่ผลงานเราสามารถขายได้ ต้องขอขอบคุณท่านผู้อำนวยการและคุณครูที่เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะอาชีพค่ะ ในปีการศึกษา 2562 ผลิตภัณฑ์ผ้าทอปกาเกอญอกันเชื้อรา ของโรงเรียนบ้านยะพอได้จดทะเบียนเป็นสินค้า OTOP หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของอำเภอพบพระแล้ว ในชื่อ “ธา ธ่า พอนาที” ค่ะ โรงเรียนบ้านยะพอ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ตั้งอยู่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน ไทย-เมียนมาร์ ปัจจุบันมีนักเรียนจำนวน 394 คน เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นปฐมวัย ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นักเรียนเป็นชาวเขาชนเผ่าปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยง 100 เปอร์เซ็นต์ สนใจผลิตภัณฑ์ส่งเสริมทักษะอาชีพในโรงเรียน “ธา ธ่า พอนาที” ผลิตภัณฑ์ผ้าทอปกาเกอญอ กันเชื้อรา สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โรงเรียนบ้านยะพอ หมู่ 5 ตำบลวาเล่ย์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก นางสาวสุวิชชาภรณ์ กฤตยาเกียรณ ผู้อำนวยการโรงเรียน โทรศัพท์ 062-2491547 ศตายุ วาดพิมาย นักประชาสัมพันธ์ สพป.ตาก เขต 2