ปิดฉาก รูดม่าน กันไปแล้ว สำหรับ อีเวนต์ “การประชุมหุ่นยนต์โลก (World Robot Conference)” ณ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนแผ่นดินใหญ่ แดนมังกร ซึ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่งานมีขึ้นเป็นเวลาหลายวันด้วยกัน โดยการประชุมข้างต้น ก็เป็นงานประจำปี ซึ่งในปี 2019 (พ.ศ. 2562) นี้เป็นปีที่ 5 แล้ว ที่ทางการแดนมังกรได้ทุ่มงบประมาณจัดงานอีเวนต์ระดับโลกเยี่ยงนี้ขึ้น บรรดาหุ่นยนต์ หรือโรบอต จากค่ายบริษัทผู้ผลิตพัฒนาต่างๆ ที่มาร่วมงาน “การประชุมหุ่นยนต์โลก 2019” ที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ท่ามกลางความมุ่งหมายว่า พญามังกรจะผงาดฟ้า ในฐานะประเทศแถวหน้าด้านหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ “เอไอ (AI : Artificial Intelligence)” อันเป็นหุ่นยนต์ที่เคลื่อนที่ได้อย่างอัจฉริยะระดับโลก ด้วยประการฉะนี้ รัฐบาลปักกิ่ง ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ จึงให้ความสนับสนุนส่งเสริมการประดิษฐ์ คิดค้น และพัฒนา ด้าน “เอไอ” นี้ กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน พร้อมๆ กับการรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดอีเวนต์ ทั้งนิทรรศการจัดแสดง และการประชุมระดับนานาชาติ อย่าง “การประชุมหุ่นยนต์โลก” ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ ปรากฏว่า มีหุ่นยนต์จำนวนกว่า 700 แบบ จากบรรดาบริษัทผู้ผลิต 166 แห่ง ใน 22 ประเทศทั่วโลก แห่กันตบเท้าเข้าร่วมในงานประชุมครั้งนี้ โดยบรรยาการประชุม สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวจีน และต่างประเทศ ที่มาร่วมงาน ซึ่งต่างล้วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ดุจดั่งพาหลุดลอยเข้าไปในโลกแห่งอนาคต” ทั้งนี้ เพราะบรรดาหุ่นยนต์แต่ละตัว ที่เหล่าผู้ประดิษฐ์ พัฒนา ขึ้นมานั้น ล้วนแสดงสาธิตประสิทธิภาพเป็นประการต่างๆ อย่าง “ล้ำยุค” แทบทั้งสิ้น อาทิ “สมาร์ทเบิร์ด” หุ่นยนต์ซึ่งมีต้นแบบมาจาก “นกนางนวลแฮร์ริง” ประดิษฐ์และพัฒนาขึ้นมาโดยบริษัท เฟสโต จากประเทศเยอรมนี สามารถบินได้เหมือนนก เพราะติดตั้งด้วยอุปกรณ์ “อากาศยานไร้คนขับ” หรือ “โดรน” มีน้ำหนักเพียง 450 กรัม ใช้พลังงานไฟฟ้า 23 วัตต์ ที่ถูกประจุไว้ในแบตเตอรีแบบ “ลิเทียม ไอออน” อันมีน้ำหนักเบา และเก็บกักประจุไฟฟ้าได้ดี เป็นพลังงานแรงส่ง ผนวกกับการผสผสานเทคโนโลยีคาร์บอนไฟเบอร์ ในการออกแบบรูปทรง ก็ส่งผลให้เจ้า “สมาร์ทเบิร์ด” ตัวนี้ สามารถบินได้คล้ายนก ใกล้เคียงกับนกธรรมชาติเลยทีเดียว ทีมงานของ “เฟสโต” โชว์ความสามารถของ “สมาร์ทเบิร์ด” หุ่นยนต์นกนางนวลแฮร์ริง จากผลงานอันสุดล้ำของ “สมาร์ทเบิร์ด” ก็ยิ่งจะช่วยให้แนวคิดเรื่องการสร้างหุ่นยนต์ให้มีประสิทธิภาพด้านการเคลื่อนไหว คล้ายกับสัตว์ที่พวกมันเลียนแบบได้ใกล้เคียงมากขึ้น “อควาเจลลี 2.0” เป็นหุ่นยนต์ที่มีรูปทรงคล้าย “แมงกะพรุน” ผลงานประดิษฐ์ คิดค้น และพัฒนาโดย ทีมงานของ “เฟสโต” บริษัทด้านโรบอตสัญชาติเยอรมนี แดนอินทรีเหล็ก แห่งเดียวกับผู้ประดิษฐ์ พัฒนาเจ้า “สมาร์ทเบิร์ด” “อควาเจลลี 2.0” หุ่นยนต์ทรงแมงกะพรุน อีกหนึ่งผลงานของ “เฟสโต” ทั้งนี้ หุ่นยนต์ดังกล่าว นอกจากรูปทรงคล้าย “แมงกะพรุน” แล้ว “การเคลื่อนไหว” ด้วยกลไกอันเป็นอัจฉริยะ หรือความเป็นสมาร์ทของมัน ก็ยังคล้ายการเคลื่อนไหวของแมงกะพรุน ใต้ท้องน้ำของทะเล แบบอย่างไรอย่างนั้น ด้วยเช่นกัน “หุ่นยนต์แขน” หรือ “โรบอติกอาร์ม” เป็นกลุ่มผลงานหุ่นยนต์แขนที่ประดิษฐ์และพัฒนาขึ้นมาโดย “ยูนิเวอร์แซล โรบอต” บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์สัญชาติแดนโคนม คือ ประเทศเดนมาร์ก มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองโอเดนเซ และมีสาขาอยู่แทบจะทั่วโลก “หุ่นยนต์แขน” ของ “ยูนิเวอร์แซล โรบอต” จากเดนมาร์ก แสดงประสิทธิภาพการผ่าตัดสมอง โดยบริษัทแห่งนี้ ถือเป็นแถวหน้าของผู้ผลิต “หุ่นยนต์แขน” ที่มีประสิทธิภาพด้านการหยิบ จับ หรือช่วยเคลื่อนย้ายวัตถุสิ่งของต่างๆ ก่อนที่ต่อมาจะได้พัฒนาขีดความสามารถไปจนถึงขั้นสามารถ “ผ่าตัดสมอง” ได้ ซึ่งทาง “ยูนิเวอร์แซล โรบอต” เปิดเผยว่า จะไม่หยุดยั้งอยู่เพียงเท่านี้ แต่จะพัฒนาประสิทธิภาพให้ยิ่งๆ ขึ้นไป อันรวมถึงด้านการศัลยกรรมทางการแพทย์ คือ การผ่าตัดเพื่อการรักษาพยาบาลในบริเวณอวัยวะร่างกายอื่นๆ อีกต่างหากด้วย “กรี” อีกหนึ่งในหุ่นยนต์ โชว์ประสิทธิภาพการเล่นเปียนโน อย่างไรก็ดี มิใช่แต่เฉพาะเหล่าบริษัทที่กล่าวมา ทว่า บรรดาบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์อื่นๆ สัญชาติต่างๆ รวมทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ก็หมายมั่นปั้นมือที่จะประดิษฐ์และพัฒนาหุ่นยนต์โรบอต ที่มีศักยภาพเคลื่อนไหวได้ทั้งในน้ำ โดยสามารถแหวกว่ายใต้ธารา และสามารถโบยบินได้บนผืนฟ้า ตลอดจนด้านการหยิบจับทางการแพทย์ ที่รวมถึงการผ่าตัด ทำศัลยกรรมต่างๆ ให้ทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จนถูกยกให้เป็นเทรนด์ใหม่ของการประดิษฐ์พัฒนาโรบอตในยุคต่อไปนี้ นอกเหนือจากหุ่นยนต์ โรบอต เอไอ ที่มีประสิทธิ์ด้านอื่นๆ ควบคู่กันไป ด้วยวัตถุประสงค์ที่มีทั้งเพื่อการธุรกิจ พาณิชย์ การกู้ภัย และการทหาร แสนยานุภาพด้านความมั่นคงของประเทศ ที่ถูกมองว่า จะประชันขันแข่งกันอย่างดุเดือดเข้มข้นด้วยเช่นกัน หุ่นยนต์ปลา โชว์ความสามารถว่ายน้ำ ภายในงานการประชุมหุ่นยนต์โลก ประจำปีนี้ที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนด้วย หุ่นยนต์สาธิตประสิทธิภาพการเสิร์ฟอาหาร ซึ่งสามารถยกสิ่งของได้มากขึ้นกว่าเดิม หุ่นยนต์ แสดงความสามารถการเขียนตัวอักษรด้วยพู่กัน นักท่องเที่ยวถ่ายภาพการแสดงความสามารถด้านต่างๆ หุ่นยนต์ตัวหนึ่งภายในงานการประชุมฯ ไว้เป็นที่ระลึก