ปัญหาโรคมาลาเรียมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก จากที่เคยมีจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงจาก 1 - 3 ล้านคนต่อปีในอดีต ปัจจุบันเหลือน้อยกว่า 5 แสนราย เช่นเดียวกับจำนวนผู้ติดเชื้อต่อปีเคยมีมากถึง 300 - 500 ล้านคน ปัจจุบันลดลงกว่าครึ่งเหลือราว 250 ล้านคน และประเทศที่เคยเป็นแหล่งชุกมาลาเรียลดลงแล้วกว่า 50 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยซึ่งเคยมีผู้ป่วยโรคมาลาเรียจำนวนสูงสุดประมาณห้าแสนรายเมื่อปี พ.ศ.2525 ปัจจุบันเหลือผู้ติดเชื้อเพียงประมาณ 7,000 รายต่อปี โดยพบมากบริเวณชายแดน ในประวัติศาสตร์โลก เมื่อประมาณ 60 ปีก่อน เคยใช้ยุทธศาสตร์การกำจัดโรคมาลาเรีย ด้วยยากำจัดยุง DDT (Dichlorodiphenyltrichloroethane) แต่พบความล้มเหลว เนื่องจากยุงพาหะดื้อยา DDT จึงได้มีการถอดบทเรียนทำให้ได้แนวคิดในการกำจัดโรคมาลาเรียแบบตรงเหตุที่ครบวงจร โดยมุ่งเป้าไปที่ 4 สาเหตุหลักของโรคมาลาเรีย ซึ่งก็คือ เชื้อมาลาเรีย ผู้ติดเชื้อ ยุงพาหะ และชุมชนแหล่งชุก โดย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีส่วนเริ่มศึกษาโรคมาลาเรียตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2503 นำโดย ศาสตราจารย์ คุณหญิงตระหนักจิต หะริณสุต ปัจจุบันคณะยังคงเป็นสถาบันอันดับ 1 ของเอเชียด้านงานวิจัยโรคมาลาเรีย และผลงานตลอดกว่า 5 ทศวรรษ โดยความร่วมมือนานาชาติ เกิดองค์ความรู้และนวัตกรรมสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จจากหลายภาคส่วน ทำให้ไทยสามารถเข้าสู่ยุคการกำจัดโรคมาลาเรีย และเพื่อขยายต่อไปในภูมิภาคเอเชีย เพื่อการกำจัดไข้มาลาเรียอย่างยั่งยืน ในการประชุมเวชกรรมตรงเหตุในประเทศไทยยุค 4.0 (Precision Medicine in Thailand 4.0) ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานราชบัณฑิตสภา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และองค์กรพันธมิตร จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. แพทย์หญิงศศิธร ผู้กฤตยาคามี ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการศึกษาวัคซีนฟัลซิปารัม และวัคซีนไวแวกซ์ โดยมีผู้ร่วมงานฝ่ายคลินิก ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.เกศินี โชติวานิช รองศาสตราจารย์ นายแพทย์กิตติยศ ภู่วรวรรณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพจนีย์ จิตตะมาลา และ แพทย์หญิงบริมาส หาญบุญคุณูปการ ซึ่งโรคมาลาเรียสายพันธุ์ไวแวกซ์ เป็นสายพันธุ์พบมากในประเทศไทย คนไทยป่วยน้อย แต่เป็นพาหะติดเชื้อไม่ออกอาการจำนวนมาก คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดย หน่วยวิจัยมหิดลไวแว็กซ์และหน่วยวิจัยโรคเขตร้อน-อ๊อกซ์ฟอร์ด จึงได้ริเริ่มโครงการศึกษาการติดเชื้อมาลาเรียในประเทศไทยหรือ Malaria Infection Study Thailand (MIST) เพื่อศึกษารูปแบบการติดเชื้อมาลาเรียไวแวกซ์ในคน และประเมินประสิทธิภาพของยาและวัคซีนมาลาเรียสายพันธุ์ไวแวกซ์ โดยโครงการศึกษาดังกล่าวจะใช้นวัตกรรมแบบเร่งด่วน หรือเรียกว่า “ฟาสต์แทร็ก” มาช่วยลดระยะเวลาการพัฒนาวัคซีน จากที่ต้องใช้เวลา 20 - 30 ปีกว่าจะนำวัคซีนมาใช้ได้ ทำให้เหลือเพียง 10 - 15 ปี ซึ่งหากทำได้สำเร็จ ไทยจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่พัฒนาระบบฟาสต์แทร็กนี้ ซึ่งก่อนนำวัคซีนมาใช้ในคนจะต้องผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของยาเพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนมีความปลอดภัย “ภายในปี 2567 กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าไว้ว่าจะสามารถกำจัด (eliminate) มาลาเรียในประเทศไทยได้ ซึ่งการจะได้ใบรับรองจากองค์การอนามัยโลกในเรื่องนี้ เราจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า จะปลอดการแพร่เชื้อมาลาเรียจากยุงพาหะภายในประเทศไทยเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 ปี ซึ่งหมายความว่า ถ้ามีคนเป็นมาลาเรียเกิดขึ้นในประเทศ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่ใช่เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศไทย หากแต่เป็นผู้ติดเชื้อมาจากต่างถิ่น” “ยุงไม่มีพาสปอร์ต ในขณะที่เรายังพบประชากรเคลื่อนย้ายระหว่างชายแดนโดยทางที่ผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น หากเราต้องการให้การกำจัดมาลาเรียเกิดความยั่งยืน เราต้องกำจัดมาลาเรียในประเทศ และก็ต้องขยายขอบเขตไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่ง คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการทำงานทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยเฉพาะทางด้านเกี่ยวกับความรู้ และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะใช้รับมือกับโรคมาลาเรีย เพื่อที่จะใช้เป็นมาตรการในอนาคตในการรักษา ปรับปรุง และป้องกันมาลาเรียของประเทศ” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. แพทย์หญิงศศิธร กล่าวทิ้งท้าย ฐิติรัตน์ เดชพรหม