14 ลูกเรือไทยที่ถูกลอยแพในโซมาเลีย ชุดสุดท้ายกลับถึงไทย อีก 6 ทำงานต่อ “หม่อมเต๋า”เตือนแรงงานต้องทำถูกต้องตามกฎหมาย แนะแจ้งกรมจัด-สมัครกองทุน จะได้รับความคุ้มครอง ป้องถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 07.30 วันที่ 30ส.ค.ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ได้ต้อนรับลูกเรือประมงไทยที่ถูกลอยแพกลางทะเลในเขตประเทศโซมาเลีย จำนวน 14 คน ชุดสุดท้าย  เดินทางกลับประเทศไทยได้โดยสวัสดิภาพ ทั้งนี้ รมว.แรงงานได้เน้นย้ำแรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศขอให้ไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะจะได้รับการคุ้มครองไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และต้องแจ้งการเดินทางกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พร้อมสมัครสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ เพื่อสิทธิประโยชน์ของแรงงานหากประสบปัญหาในต่างประเทศ ส่วนการติดตามเงินค่าจ้างค้างจ่ายในการทำงานจากนายจ้าง รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่แรงงานจะได้รับนั้น กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดูแลให้ความช่วยเหลือต่อไป  ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล กล่าวว่า  ลูกเรือประมงไทยที่ถูกลอยแพในประเทศโซมาเลีย เรือวาดานี 2  จำนวน14 คน ซึ่งเป็นชุดสุดท้าย เป็นชาวจังหวัดบุรีรัมย์ 5 คน สุรินทร์ 2 คน สมุทรสาคร 2 คน สกลนคร 1 คน อุบลราชธานี 1 คน นครพนม 1 คน อุทัยธานี 1 คน และระนอง 1 คน ส่วนอีก 6 คน ทำงานต่อกับนายจ้างอิหร่าน เพราะฉะนั้นการเดินทางไปโดยไม่ได้แจ้งกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และพบว่าเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศของกรมการจัดหางาน จำนวน 6 คน โดยแรงงานที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ จะได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เป็นค่าพาหนะ (ในต่างประเทศ) ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000บาท นอกจากนี้ กรมการจัดหางานจะได้ประสานกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พม.) ให้การช่วยเหลือค่าพาหนะ ค่าอาหาร ให้แก่แรงงานไทยในการเดินทางกลับภูมิลำเนา ตลอดจนติดตามสิทธิประโยชน์ให้แก่แรงงานไทย เช่น ค่าจ้างค้างจ่าย เป็นต้น และจะดำเนินการทางคดี หากตรวจสอบพบว่ามีการฝ่าฝืนพ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 ทั้งนี้ กรมการจัดหางานได้ร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อำนวยความสะดวกโดยจัดรถรับ-ส่ง พร้อมจัดหาที่พักให้แก่แรงงานก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนา และจากนี้จะได้สอบข้อเท็จจริงจากแรงงานไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการ   จัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พม.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานต่อไป   “ผู้ประสงค์จะไปทำงานในต่างประเทศต้องเดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และต้องแจ้งการเดินทางกับกรมการจัดหางาน พร้อมสมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ โดยมีอัตราค่าสมัครสมาชิก 300-500 บาท แตกต่างกันตามประเทศที่จะเดินทางไปทำงาน เพื่อจะได้รับการคุ้มครอง ดังเช่นกรณีของลูกเรือประมงไทยที่ประสบปัญหาถูกทอดทิ้งอยู่ในต่างประเทศ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง ซึ่งแรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ ก็จะได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิ ส่วนแรงงานไทยที่ลักลอบไปทำงาน นอกจากจะต้องอยู่อย่างลำบากและต้องหลบซ่อนแล้วยังถูกเอารัดเอาเปรียบอีกด้วย”รมว.แรงงาน กล่าว