สรรพากรตรัง จัดเก็บภาษีต่ำกว่าเป้ากว่า 77 ล้าน ขณะที่ ผู้ว่าฯ กำชับหน่วยงานลงไปดูแลช่วยเหลือเต็มที่ พร้อมเดินหน้าสำรวจโครงการก่อสร้างทั้งจังหวัด หลังพบทิ้งงานกว่า 50 รายการ วันที่ 30 สิงหาคม ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดเก็บรายได้ของสำนักงานสรรพากรจังหวัดตรัง ที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ถึง 77 ล้านบาทว่า ปีนี้การจัดเก็บรายได้ของสรรพากรจังหวัดตรังต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้โดยที่ตัวเลขที่สำนักงานสรรพากรจังหวัดตรังชี้แจงในที่ประชุมกรมการจังหวัดตรังเดือนสิงหาคมนี้ ประกอบด้วย เป็นภาษีบุคคลธรรมดา,นิติบุคคล,มูลค่าเพิ่ม,ธุรกิจเฉพาะ ,อากรแสตมป์ และอื่นๆ ผลจัดเก็บ ประมาณการ 791,052 ล้านบาท จัดเก็บรวม 713,899 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 77 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ต้องลงมาดูแลอย่างจริงจัง นายลือชัย กล่าวอีกว่า ตนให้แนวคิดว่าเราเป็นภาคราชการจะมาใช้เงินภาษีพี่น้องประชาชนอีกเท่าไหร่ จึงสั่งการไปยังสำนักงานจังหวัดลงดูแล ส่วนตนเองจะลงมาดูแลเฉพาะในส่วนของราชการส่วนภูมิภาค ส่วนที่เหลือไม่มีตัวเลข จุดมุ่งหมายจริงๆต้องการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตามนโยบาย เอกชนนำ ราชการสนับสนุน ต้องการให้ทุกส่วนราชการไปกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในปี 2562 ภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดตรังเกิดภาวะซบเซา โดยเฉพาะภาคธุรกิจ โรงงานที่เกี่ยวข้องแปรรูปไม้ยางพาราผลประกอบการไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากประเทศจีนไม่ได้มีการสั่งออเดอร์มาทำให้กระทบต่อผลการเก็บภาษี “ผมต้องการให้ภาคราชการทุกส่วนลงไปคิดว่าจะช่วยสนับสนุนภาคเอกชนอย่างไรในบทบาทหน้าที่ของตนเองตั้งแต่ต้นทางจะส่งเสริมสนับสนุนอย่างไรให้อยู่ได้ ส่วนกลางทางส่งเสริมด้านมาตรฐานคุณภาพคงจะต้องลงไปให้ความช่วยเหลือ เช่นด้านการตลาดจะช่วยวางแผนอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าภาคราชการไปลงมาดูแลเนื่องจากแต่ละเดือนข้าราชการได้รับเงินเดือนทุกเดือน เงินเดือนที่ได้รับจากเงินภาษีของประชาชนซึ่งเก็บได้น้อยลง อย่างไรก็ตามตนต้องการให้เห็นภาพว่าภาคราชการมีหน้าที่สนับสนุนขอให้ใช้บทบาทหน่วยงานของตนเองในการสนับสนุนอย่างจริงจังโดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2563 จะต้องมีการวางแผนที่รัดกุมมากขึ้นในการบริหารจัดการงานให้ตรงจุด ส่วนไหนที่จะต้องเสริมเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีรายได้ที่ดีขึ้นจะต้องเร่งทำ” นายลือชัย กล่าว นายลือชัย กล่าวอีกว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การจัดเก็บภาษีน้อยลงเกิดจากภาวะเศรษฐกิจ 2 ระดับ เนื่องจากจังหวัดตรังมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะบทบาทของประเทศจีนที่เคยมารับซื้อไม้ยางพาราลดลงเพราะประเทศจีนมีไม้ที่ผลิตเพิ่มขึ้นและแปรรูป อีกส่วนโรงงานบางแห่งเมื่อภาวะเศรษฐกิจซบเซาก็มีการเปลี่ยนฐานจะได้รับผลกระทบ จึงต้องมาดูระบบเศรษฐกิจมหภาคและจุลภาคว่ากระทบอะไรบ้าง ส่วนราชการที่มีหน้าที่จะต้องเร่งทำด้วย “ตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นอีกอย่างคือ สภาปัญหาการทิ้งงานก่อสร้างตนได้มอบหมายให้สำนักงานจังหวัดตรังลงไปสำรวจตรวจสอบโดยขอความร่วมมือส่วนราชการต่างๆว่าสิ่งปลูกสร้างสิ่งใดบ้างที่ยังไม่เสร็จ ทั้งในข้อกฎหมาย หรือการบริหารจัดการ เช่นการโอนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เท่าที่สำรวจพบว่ามีอยู่กว่า 50 รายการจึงอยากให้มีการสำรวจอย่างละเอียด ตนอยากจะมีฐานข้อมูลที่ตรงกัน เช่นอยู่ในขั้นตอนของกฎหมายอยู่ที่การฟ้องร้องก็จะได้บอกกับพี่น้องประชาชนได้ บางแห่งอยู่ในระหว่างข้อพิพาท บางแห่งสร้างแล้วหยุด บางแห่งผู้รับจ้างทิ้งงาน ด้วยเหตุผลอะไร การสำรวจจะได้เห็นภาพรวมทั้งจังหวัด อย่างน้อยจะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด ไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรม อะไรที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนต้องลงไปดู และจะต้องแก้ไขกันอย่างจริงจังต่อไป” นายลือชัย กล่าว