เกาะกรีนแลนด์ ดินแดนขั้วโลกเหนือที่มีเกาะน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเพิ่งเป็นข่าวดังไปทั่วโลก กรณีประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ จะขอซื้อเกาะนี้ แต่ถูกรัฐบาลเดนมาร์กปฏิเสธ จนโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง ที่นี่ไม่เพียงทรัพยากรที่สหรัฐฯมองเป็นขุมทรัพย์มหาศาล ยังเป็นตัวชี้วัดอนาคตของชาวโลกด้วยเช่นกัน ว่าจะอยู่เย็นเป็นสุข หรืออยู่ร้อนนอนทุกข์ ก็วัดได้จากธารน้ำแข็งของที่นี่... สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA) ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุ “โลกในอีกสิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?” เป็นคำถามที่คนจำนวนมากอยากรู้ เพื่อจะได้เตรียมรับมือกับกระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้ทันท่วงที แต่การจะทำนายอนาคตให้แม่นยำนั้นเป็นเรื่องยากและเต็มไปด้วยขีดจำกัด วิทยาศาสตร์นั้นช่วยให้เราทำนายปรากฏการณ์ต่างๆได้เป็นอย่างดี แต่หลายกรณีก็ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย เช่น การพยากรณ์อากาศล่วงหน้านานๆในระดับเดือน อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างแบบจำลองจากข้อมูลในปัจจุบันเพื่อเพื่อพยากรณ์สภาพอากาศอนาคตในระดับภาพรวมได้โดยสนใจผลจากตัวแปรหลักๆ ก่อน .................................................... โครงการ Operation IceBridge เป็นโครงการขององค์การนาซา มีจุดประสงค์เพื่อการเก็บข้อมูลน้ำแข็งขั้วโลกอย่างละเอียดโดยอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้กับเครื่องบินหลายลำเพื่อเติมเต็มข้อมูลที่ได้จากดาวเทียม ICESat และ ICESat-2 (Ice, Cloud and Land Elevation Satellite) ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ใช้ข้อมูลจากโครงการ Operation Ice Bridge ร่วมกับดาวเทียมมาวิเคราะห์จนพบว่าการละลายของน้ำแข็งที่กรีนแลนด์จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเร็วกว่าที่คิดกัน หากการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกยังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเดียวกับในตอนนี้ งานวิจัยดังกล่าวได้ตีพิมพ์ในวารสารที่มีความน่าเชื่อถือสูงอย่าง Science Advances เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2019 นี้ ผลการวิเคราะห์พบว่าอีก 200 ปีข้างหน้า การละลายของน้ำแข็งจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 48-160 เซนติเมตรทั่วโลก! ตัวเลขนี้น่ากังวลเพราะมันมากกว่าที่เคยคาดการณ์กันราว 80% และถ้าปล่อยให้เวลาผ่านไปจนถึง ค.ศ.3000 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกือบพันปีข้างหน้า แผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์จะละลายจนหมด ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นราว 5 - 7 เมตร เมืองตามชายฝั่งและพื้นที่บนเกาะหลายแห่งจะจมหายไปอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม แบบจำลองดังกล่าววางอยู่บนสมมติฐานที่ว่ามนุษย์เรายังปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกด้วยอัตราที่สูงอย่างในปัจจุบัน แต่ปัญหาคือ มนุษย์เราอาจไม่ได้มีเวลาแก้ไขนานถึงพันปี เพราะระหว่างที่ระดับน้ำทะเลค่อยๆเพิ่มสูงขึ้น ย่อมก่อให้เกิดสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์เราอย่างมากแล้ว คำถามคือ ทำไมแบบจำลองนี้จึงน่าเชื่อถือว่าแบบจำลองก่อนหน้า? คำตอบคือ เพราะ มีการนำข้อมูลของ outlet glaciers มาคำนวณด้วย Outlet glaciers เป็นโครงสร้างแผ่นน้ำแข็งที่เชื่อมต่อกับมหาสมุทร โดยแผ่นน้ำแข็งที่อยู่บนแผ่นดินเมื่อละลายจะไหลลงสู่มหาสมุทรผ่านทางนี้ มันจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่อธิบายการละลายของแผ่นน้ำแข็งอื่นๆ แต่แบบจำลองก่อนหน้าไม่ได้มีการนำข้อมูลการไหลของน้ำผ่าน outlet glaciers ซึ่งมีความซับซ้อนมาคำนวณด้วย อย่างไรก็ตาม เราสามารถเข้าใจภาพรวมได้ง่ายๆ คือ ในรอบ 20 ปีมานี้ มหาสมุทรทั่วโลกอุ่นขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้น้ำแข็งรอบๆ outlet glaciers ละลาย น้ำจึงไหลผ่านมันเร็วขึ้น แผ่นน้ำแข็งทั้งหมดจึงละลายเร็วขึ้นไปด้วยนั่นเอง ข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมนั้นสำคัญมากเพราะช่วยให้เห็นถึงอัตราการไหลได้เป็นอย่างดี ส่วนข้อมูลที่ได้จากเครื่องบินในโครงการ Operation IceBridge ก็ช่วยให้นักวิจัยทราบความหนาของแผ่นน้ำแข็งบริเวณต่างๆ ได้ เมื่อนำมาประกอบกับตัวแปรอื่นๆ จึงทำให้นักวิจัยสร้างแบบจำลองที่แม่นยำอย่างในครั้งนี้ จริงอยู่ที่พวกเราอาจไม่ได้ดำรงชีวิตไปจนถึงพันปีข้างหน้า แต่การส่งมอบโลกที่ดีให้กับลูกหลานของเรา น่าจะเป็นหน้าที่ของบรรพบุรุษที่ดีมิใช่หรือ อ้างอิง https://www.nasa.gov/…/study-predicts-more-long-term-sea-le… https://advances.sciencemag.org/content/5/6/eaav9396 https://icebridge.gsfc.nasa.gov/ https://phys.org/news/2019-06-iceless-greenland-future.html