ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่า GDP ปี 2568 อาจขยายตัวเพียง 1.5-2.0% ขึ้นอยู่กับระดับภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ หากอยู่ที่ 18% จะส่งผลให้เศรษฐกิจโตต่ำสุดที่ 1.5% ขณะที่อัตรา 10% อาจยังพอขยับถึง 2.0%

แม้การส่งออกช่วงต้นปีจะดูดี โต 14.9% แต่เป็นเพียงผลจากการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนหมดมาตรการผ่อนปรน ภาพรวมครึ่งปีหลังกลับมีแนวโน้มหดตัวกว่า 10% กระทบแรงงานและการจ้างงานในห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดจีน ยังต่ำกว่าคาด ไม่สามารถชดเชยรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวไกลได้

ที่สำคัญ กกร.กังวล “ค่าเงินบาทแข็ง” ที่ปรับขึ้นเร็วกว่าภูมิภาค แตะระดับ 32.5 บาทต่อดอลลาร์ฯ และมีค่า NEER เทียบเท่าก่อนวิกฤตปี 2540 ทำให้ภาคธุรกิจขาดความสามารถในการแข่งขัน กกร. จึงเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเร่ง “ลดดอกเบี้ยนโยบาย” และดูแลทิศทางค่าเงินให้สะท้อนเศรษฐกิจจริง

นอกจากนี้ ยังควรแยกแยะปัจจัยเฉพาะ เช่น การซื้อขายทองคำ หรือยอดดุล Error & Omission ที่สูงผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินบาทแข็งเกินพื้นฐานจริง ส่งผลต่อการส่งออกและการผลิตโดยรวม

ในเชิงโครงสร้าง กกร. ชี้ว่าปัญหาเรื้อรัง เช่น การสวมสิทธิ์ (transshipment) การนำเข้าสินค้าคุณภาพต่ำ และนโยบายการลงทุนที่ไม่เน้น value-added ยังคงถ่วงศักยภาพการเติบโตของไทย จึงควรเร่งยกระดับระบบข้อมูลและบังคับใช้กฎหมายร่วมกันอย่างจริงจัง

ด้านหนี้ครัวเรือน แม้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จะมีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1.4 ล้านราย แต่ยังต้องขยายผลและพัฒนามาตรการระยะที่ 2 ให้ครอบคลุมกลุ่มเปราะบางได้ดียิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาการเงินลุกลาม

ทั้งนี้เราเห็นว่า นอกจาก ธปท. ควรลดดอกเบี้ยนโยบายและบริหารค่าเงินบาทให้สอดคล้องเศรษฐกิจจริงแล้ว ในส่วนของรัฐบาลควรเร่งอนุมัติงบประมาณปี 2569 เพื่อไม่ให้ไตรมาส 4 สะดุด พร้อมบูรณาการการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ควบคู่กับการเสริมรายได้ ยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทย เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ และสร้างกลไกเฝ้าระวังความเสี่ยงเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างเพื่อป้องกันวิกฤตรอบใหม่

โดยเชื่อว่าประเทศไทยยังมีโอกาสฟื้นตัว หากสามารถปรับนโยบายได้สอดคล้องกับความเป็นจริงและร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน