สถาพร ศรีสัจจัง รูปแบบของ “สงคราม” ในโลกยุคใหม่ แม้จะยังมีปรากฏลักษณะการปะทะทำลายล้างด้วยกองกำลังอาวุธกันอยู่ไม่น้อยในหลายพื้นที่ของโลก แต่ก็ถือว่ามีลักษณะเป็น “ด้านรอง” เมื่อเทียบกับ “สงครามทางเศรษฐกิจ” โดยเฉพาะ “สงครามทางวัฒนธรรม” ที่นักคิดในโลกสมัยใหม่สรุปได้แล้วว่า สามารถ “ยึดครอง” ทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างแท้จริง เพราะเป็นการยึดครอง “ระบบคิด” หรือ “ระบบคุณค่า” ของคน พวกเขาอธิบายว่า ที่สงครามยึดพื้นที่หรือสงครามใช้กองกำลังเข้าปะทะห้ำหั่นกันยังต้องมีอยู่นั้น เป็นเพียงเพราะบรรดาประเทศจักรวรรดินิยมสมัยใหม่หรือ “มหาอำนาจ” ยังมีความจำเป็นต้อง “ทำกำไร” จากการขายอาวุธสงคราม และเพื่อการปล้นสะดมภ์ทรัพยากรสำคัญๆ เช่น ทรัพยากรด้านพลังงาน จากดินแดนสงครามเหล่านั้นเท่านั้น เราจึงเห็นตัวแทนประเทศนักปล้นดังกล่าว ยังต้องดำเนินการ “เลี้ยงสงคราม” ที่ใช้กองกำลังคนและอาวุธร้ายเข้าปะทะกันในดินแดนที่เต็มไปด้วยทรัพยากรด้านพลังงาน เช่น น้ำมันและแร่ธาตุประเภทกัมมันตภาพรังสีในหลายแหล่งที่ โดยเฉพาะดินแดนแถบตะวันออกกลาง ใครหลายคนอาจคิดเชื่อมโยงเรื่องบางราวของบ้านเราเข้ากับกรณีตะวันออกกลางอยู่ไม่น้อย นั่นคือ กรณีความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เริ่มดุเดือดหนักขึ้นในช่วงการปกครองของรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร เจ้าของวาทกรรรม “โจรกระจอก” อันโด่งดังข้ามทศวรรษ แต่บังเอิญสังคมไทยเป็น “สังคมคนลืมง่าย” และลืมเร็ว ใครต่อใคร(โดยเฉพาะนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง) คงลืมกันไปแล้วว่า ปัญหาการคุกรุ่นขึ้นจนกลายเป็น “ไฟไหม้บ้าน” อยู่จนปัจจุบันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาสและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลานั้น เกิดจากฝีมือใคร และใครที่ก่อเกิด “ไฟแค้น” ในกับคนที่นั่น จนทำให้ “ปัญหาไฟประวัติศาสตร์ที่ดับแล้ว” ต้องลุกโชนขึ้นมาลามเมืองอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ลุกโชนจนกลายเป็นเครื่องมือของ “นักฉวยโอกาส” หลายฝักหลายฝ่ายได้ใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากินบนความหายนะล่มสลายของชีวิต และทรัพย์สินประชาชน รวมไปถึงงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลที่มาจากภาษีของคนทั้งประเทศ! ในรอบกว่าทศวรรษที่พ้นผ่าน รัฐไทยต้องสูญเสียทรัพยากรทั้งผู้คนทั้งเงินทองทรัพย์สินไปอย่างมหาศาลเพื่อ “แก้ปัญหา” ที่ดูเหมือนจะยืดเยื้ออกไปทุกทีๆ จนคล้ายเหมือน “รัฐ” จะหลงติดหล่มอยู่ในวังวัฏนี้จนถอนตัวไม่ขึ้น มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า ในการแก้ปัญหาจังหวัดชานแดนภาคใต้นี้ รัฐไทยมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอยู่ที่ด้าน “ความมั่นคง” เป็นกระแสหลัก ความมั่นคงที่ว่าก็คือ การใช้กำลังทหารตำรวจ และกองกำลังจัดตั้งในรูปแบบต่างๆเพื่อ ปราบ ปราม ยัน ทำลายล้าง และ “คุ้มครอง” ในหลายลักษณะ ถามว่าถูกต้องหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ หลายฝ่ายเหล่านั้นบอกว่า ก็ถูกต้องเหมาะสมอยู่ เพราะคงมีความจำเป็นในการใช้กองกำลังจัดตั้งเพื่อปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพทุกด้านของประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่นั่นควรจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ในแผนยุทธศาสตร์องค์รวมของการแก้ปัญหาเรื่องนี้ควรมีการบูรณาการอย่างรอบด้าน คือควรจะต้องสนใจใจแนวรบด้านอื่นด้วย  ที่สำคัญคือแนวรบด้านวัฒนธรรม! ปัญหาที่ตามมาก็คือ รัฐไทยเจ้าใจและรู้จักหรือเปล่าว่าวัฒนธรรมคืออะไร? และแนวรบด้านวัฒนธรรมคืออะไร? วัฒนธรรมในความหมายของโลกสมัยใหม่นั้นเป็นเรื่องสำคัญและกว้างใหญ่มาก กินความรวมถึงสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “โครงสร้างชั้นบน” (Super-structure)ทั้งหมด อันหมายรวมถึง การเมือง กฎหมาย และ การที่เกี่ยวกับวิถีประชาและระบบคุณค่าทั้งหลายทั้งปวงอีกด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องนาฏกรรมรำฟ้อน โบราณสถานโบราณวัตถุ อาหารการกิน เสื้อผ้าอาภรณ์ หรือ “ของเก่าและเรื่องเก่าที่ดีๆ” เท่านั้น แต่หมายถึงสิ่งที่มีผลในการสร้างกรอบแนวคิดเพื่อวางระบบคุณค่าแห่งชีวิตของผู้คนทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับระบบคุณธรรม-จริยธรรม และ “ความเชื่อ” ทั้งหลายทั้งปวง แปลเป็นรูปธรรมง่ายๆก็ได้แก่ การศึกษา ศาสนา(เนื้อใน) และสิ่งแวดล้อมทางศิลปาการทั้งปวง(ศิลปะการแสดง-ทัศนศิลป์-วรรณศิลป์) เป็นต้น คำถามก็คือว่า ที่ผ่านมา “รัฐไทย” มีการวางแผนในการสร้าง “แนวรบด้านวัฒนธรรม” ดังกล่าวเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยแก้ปัญหาให้กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างถาวร อย่างเป็นระบบ อย่างมีจังหวะก้าว มีบูรณาการ และเอาจริงเอาจังบ้างหรือเปล่า? ถ้ามีรัฐใช้งบไปแล้วเท่าไหร่-หรือนับเป็นกี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณด้านความมั่นคง?