ในสถานการณ์การเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองในห้วงที่ผ่านมามีเหตุปะทะและภาพความรุนแรงออกสู่สาธารณะ โดยที่มีการแสดงความเห็นของกลุ่มต่างๆทั้งต่อรูปแบบการชุมนุม และการจัดการการชุมนุม โดยมีการอหยิบยกเอาคำว่า “สันติวิธี” เป็นวาทะกรรมสร้างความชอบธรรมให้แต่ละฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ในความหมายที่แท้จริงของ “สันติวิธี” นั้นคืออะไร และหากเข้าใจอย่างถ่องแท้ และพิจารณาตามหลักการประกอบแล้วก็จะสามารถเข้าใจได้สิ่งที่กระทำกันอยู่นั้น เป็นสันติวิธีหรือไม่ อย่างไร “สยามรัฐ” จึงขอคัดข้อความบางช่วงบางตอนจาก เอกสารความรู้ สดร. เรื่อง “การจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี” เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสถาบันดำรงราชานุภาพ (www.satabundamrong.go.th) มานำเสนอดังนี้
“พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตย์สถานพ.ศ.2542 (2546:1166) สันติวิธีหมายถึง วิธีที่จะก่อให้เกิดความสงบ เช่น เจรจาสงบศึก โดยสันติวิธี
พระไพศาล วิสาโล เครือข่ายพุทธิกา ให้ความหมายของสันติวิธีว่าสันติวิธีไม่ใช่การยอมจำนนหรืออยู่นิ่งเฉยปล่อยให้อีกฝ่ายมากระทำโดยไม่ตอบโต้ แท้ที่จริงสันติวิธี คือการตอบโต้อีกแบบหนึ่ง โดยไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งนี้เพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมอันไม่ถูกต้อง หรือเพื่อปรับเปลี่ยนสถานการณ์ให้เป็นไปในทางสันติ
สันติวิธีไม่ได้หมายถึงการหนีปัญหาแต่เป็นการเผชิญกับปัญหา และบ่อยครั้งต้องมีการเผชิญหน้ากับคู่กรณี โดยปราศจากอาวุธ ดังนั้นจึงต้องอาศัยความกล้าหาญและความเด็ดเดี่ยว ขณะเดียวกันสันติวิธียังหมายถึงการสร้างเงื่อนไขที่ยุติความรุนแรง หรือขจัดเงื่อนไขที่ส่งเสริมพฤติกรรมอันเป็นปัญหา ดังนั้นจึงต้องอาศัยปัญญาที่เข้าใจกระจ่างชัดในรากเหง้าของปัญหาและสามารถคิดค้นมาตรการที่สร้างสรรค์ได้…
…คณะอนุกรรมการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีให้ความหมายของสันติวิธีว่าน่าจะประกอบด้วยสามแง่มุมดังต่อไปนี้
หนึ่ง การแก้ปัญหาโดยไม่ใช้วิธีรุนแรง เช่น จัดการกับผู้ชุมนุมโดยไม่ใช้อาวุธ หรือต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ด้วยการชุมนุมอย่างสงบการดื้อแพ่งหรือการคว่ำบาตร ทั้งนี้รวมไปถึงการไม่ตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง
สอง การขจัดเงื่อนไขแห่งความรุนแรงและสร้างเงื่อนไขแห่งสันติวิธี เช่น การดูแลมิให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนการขจัดความยุติธรรม การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกป้องชุมชน มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สามารถเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ปลอดพ้นจากความยากไร้ ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ได้รับความเคารพกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการขจัดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง
สาม ทัศนคติที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เช่น ความเอื้ออาทร ความห่วงใย ความใจกว้าง ยอมรับความหลากหลาย และเคารพความแตกต่าง การรู้จักให้อภัยไม่แบ่งเขาแบ่งเรา รวมถึงทัศนะที่ว่าความรุนแรงไม่ใช่ทางออก จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและได้ผลต้องสันติวิธี
มูลนิธิส่งเสริมสันติวิธี ให้ความหมายของสันติวิธีว่า คือ วิถีแห่งการดำเนินชีวิตซึ่งมีรากฐานมาจากการจัดการปัญหาความขัดแย้งในสัมพันธภาพของมนุษย์ ไม่ว่าในระดับปัจเจกหรือกลุ่มบุคคล เป้าหมายของสันติวิธีคือ การใช้ประโยชน์จากขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม และค่านิยมของชุมชน เพื่อเปลี่ยนความขัดแย้งนั้นมาสู่สัมพันธภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ ด้วยเหตุนี้สันติวิธีจึงมีความสำคัญกับการเคารพในศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์โดยไม่คำนึงถึง เชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือ วัย…”