ถึงที่ผ่านมาจะมีขบเหลี่ยมปีนเกลียวกันอย่างไรภายในพรรคร่วมรัฐบาล กระทั่งอภิปรายกันเองในสภาอย่างดุเดือดอย่างไม่เคยปรากฏก็มีมาแล้ว แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยดี
กระทั่งในสถานการณ์ที่รัฐนาวากำลังถูกวิกฤติถาโถมขณะนี้ ก็ดูเหมือนการเคลื่อนไหวของมวลชน และการแสดงออกในโลกโซเชียลถึงความไม่พอใจการบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมกับปฏิกิริยาเรียกร้องไปยังพรรคร่วมรัฐบาลให้ถอนตัว เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จะไร้ผล
แม้ภายในพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการเคลื่อนไหวของนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ยื่นจดหมายเปิดผนึกลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อกดดันให้ถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล ก็ยังไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้
ตรงกันข้าม ดูเหมือนบรรยากาศภายในพรรคร่วมรัฐบาลจำเป็นต้องกระชับมั่นกันมากขึ้นกว่าเดิม
โดยเฉพาะเมื่อมีการส่งสัญญาณจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้อยู่ระหว่างการหลบหนีคดีในต่างประเทศ ออกมาประกาศว่าจะกลับมาประเทศไทยในเร็วๆนี้ ยิ่งเป็น “สารกระตุ้น”ให้พรรคร่วมรัฐบาลยิ่งจับมือกันแน่นกว่าเดิม ด้วยมี “ศัตรูทางการเมือง”ร่วมกัน
โดยเฉพาะการแสดงความเห็นของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ว่า ไม่ว่ากระแสความนิยมของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าจะกลับก็ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย คือต้องเข้าสู่กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งขณะนี้ท่านถูกศาลพิพากษาให้จำคุกอยู่ ถ้ากลับเข้ามากระบวนการยุติธรรมก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล
“ถ้าจะกลับมาด้วยวิธีพิเศษ เช่น ออกกฎหมายนิรโทษกรรม เราก็เห็นอยู่แล้วว่าก่อนหน้านี้การออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดท้ายไปไม่ได้อย่างไร และมีประชาชนจำนวนเท่าไหร่ที่ออกมาต่อต้าน จนในที่สุดกลายเป็นต้นเหตุหนึ่งของการก่อรัฐประหารในช่วงที่ผ่านมา ฉะนั้นถ้าจะกลับมาด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะได้รับการยอมรับหรือสมควรหรือไม่อย่างไร”
ดังนั้น ตราบใดที่กลุ่มอำนาจที่หนุนหลังพล.อ.ประยุทธ์ ยังผนึกกันเหนียวแน่น ก็ยากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเร็ววันนี้ หากสถานการณ์ไม่สุกงอมเพียงพอ และมีปัจจัยเร่งเร้าตัวอื่นที่มีน้ำหนัก โรดแมปของรัฐบาลชั่วโมงนี้จึงวางยาวไปครบเทอม หรืออย่างน้อยก็ยื้อไปถึงกลางปี 2565